การทำงานเป็นทีม (Teamwork) คืออะไร สำคัญจริงไหม?
การทำงานเป็นทีม หรือ Teamwork คือ ปัจจัยที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของพนักงานและทีม จนนำไปสู่ความสำเร็จขององค์กร มาดูกันว่าหลักการทํางานร่วมกันที่ดีมีอะไรบ้าง
การทำงานเป็นทีม (Teamwork) คืออะไร สำคัญแค่ไหน และนำไปปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง?
การทำงานเป็นทีม หรือ Teamwork ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความสามัคคีและบรรยากาศในการทำงานที่ดีเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาความสำเร็จให้กับทั้งพนักงานรายบุคคล ทีมที่สังกัด ไปจนถึงองค์กรในภาพรวม
แล้วทำไมการทำงานเป็นทีมถึงมีส่วนสำคัญในความสำเร็จทุกด้านขององค์กร หลักการทำงานร่วมกันให้เกิดผลลัพธ์สูงสุดมีอะไรบ้าง ในบทความนี้ BASE Playhouse จะมาเจาะลึกทุกประเด็น พร้อมแชร์วิธีการปรับใช้หลักการพัฒนาการทำงานเป็นทีมแบบง่าย ๆ แต่เห็นผลลัพธ์จริงกัน
การทำงานเป็นทีม คืออะไร?
การทำงานเป็นทีม หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อของ Teamwork คือ ทักษะ หรือ กระบวนการที่สมาชิกในทีมหรือในองค์กรแต่ละคนสามารถร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ โดยมีการแบ่งปันความรู้ แชร์ทักษะ พร้อมกำหนดความรับผิดชอบของแต่ละคน รวมถึงความรับผิดชอบที่ต้องทำร่วมกันเอาไว้ด้วย
การทำงานเป็นทีม สำคัญจริงไหม?
หลายๆ องค์กรอาจมีความเชื่อว่า เพียงแค่เรามีคนที่มีความสามารถสูง (High Performer) เข้ามาทำงานด้วยก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะสร้างความสำเร็จที่ตั้งเป้าไว้ แต่ในความเป็นจริง ความสำเร็จขององค์กรนั้น ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เพียงจากคนๆ เดียว แต่ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนขององค์กรในการที่จะขับเคลื่อน และพุ่งชนเป้าที่วางเอาไว้ด้วย
ด้วยเหตุนี้ การฝึกทักษะการทำงานเป็นทีมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ทักษะการทำงานเป็นทีมยังมีส่วนช่วยให้จุดประกายความคิดสร้างสรรค์ จนเกิดเป็นนวัตกรรม หรือ แนวทางการแก้ปัญหาใหม่ๆ ที่อาจช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน และช่วยสร้างความสำเร็จให้องค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ลักษณะของการทำงานเป็นทีม
หลายคนมักเข้าใจว่า ลักษณะของการทำงานเป็นทีมที่ดีจะต้องมีข้อผิดพลาดและความขัดแย้งน้อยที่สุด
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความผิดพลาดหรือปัญหานั้นเกิดขึ้นได้เสมอ และการทำงานเป็นทีม คือ การที่สมาชิกยังสามารถทำงานด้วยกันได้ แม้จะต้องเจอกับอุปสรรค และสามารถพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเปิดเผยเพื่อนำไปสู่วิธีแก้ที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ด้วยเหตุนี้ หัวใจของการสร้าง Teamwork ที่ดีประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลัก ดังนี้
- การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ที่ช่วยลดข้อขัดแย้งในการทำงาน
- ความไว้วางใจซึ่งกันและกันของคนในทีม ซึ่งเป็นสิ่งที่จะทำให้ทุกคนสามารถพูดคุย แลกเปลี่ยน และร่วมงานกันได้อย่างราบรื่น
- การมีส่วนร่วมของทุกคนในทีม เพื่อให้สมาชิกในทีมรู้ถึงบทบาทและคุณค่าของตัวเอง ซึ่งจะผลักดันให้พวกเขาแสดงศักยภาพตามความถนัดอย่างเต็มที่ ตลอดจนสามารถช่วยเหลือสมาชิกคนอื่นเมื่อจำเป็นได้
การทำงานเป็นทีม มีข้อดีอะไรบ้าง?
แม้จะมีความเชี่ยวชาญ ความรู้ หรือทักษะในระดับเดียวกัน แต่สมาชิกในทีมแต่ละคนเองก็ย่อมมีความคิด-ความเห็นของตัวเอง ซึ่งการจะรวมความแตกต่างของแต่ละคนเข้าไว้ด้วยกันได้ จำเป็นต้องใช้ทักษะการทำงานเป็นทีมที่มีประสิทธิภาพ
เมื่อรวมทุกความต่างของแต่ละคนในทีมเข้าไว้ได้ การทำงานเป็นทีมสามารถสร้างข้อดีให้กับองค์กรได้มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มขึ้น จากการที่สมาชิกในทีมสามารถทำงานตามที่ถนัดและช่วยเหลือกัน จนทำให้งานสำเร็จอย่างมีคุณภาพ ไปจนถึงการช่วยลดปัญหาและข้อขัดแย้งในการทำงาน จากการนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันในทีม
ที่สำคัญ ทักษะการทำงานเป็นทีมยังช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี คนในทีมพร้อมช่วยเหลือกัน จนนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและความสุขในการทำงาน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ทุกคนได้ทีมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์ และการเรียนรู้ที่ช่วยพัฒนาสกิลที่จำเป็นต่อการทำงานได้
หาก Performance ไม่ดี เราไม่มีการทำงานเป็นทีม ใช่หรือไม่?
ประสิทธิภาพการทำงานของทีม (Team Performance) ไม่ได้สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานเป็นทีมที่ล้มเหลว เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงานของสมาชิกแต่ละคน จนส่งผลกับประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมได้ เช่น
- การสื่อสาร หรือ การกำหนดความรับผิดชอบที่ไม่ชัดเจน จนทำให้ไม่เข้าใจงานที่ทำอยู่ หรือ งานไม่เหมาะสมกับความสามารถที่มี
- บรรยากาศการทำงานที่ไม่ส่งเสริมการเรียนรู้ และกดดัน นำไปสู่ความเครียด
- ปริมาณงานมากจนเกินไป ไม่สอดคล้องกับระยะเวลาที่กำหนดให้
- ผู้มีอำนาจ หรือ หัวหน้าบกพร่องในการจ่ายงาน
- ปัญหาส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคนในทีม
ดังนั้น หากประสิทธิภาพการทำงานของทีมลดลงเมื่อไหร่ อย่าลืมรีบหาต้นตอของปัญหา พร้อมลงมือแก้ไขในทันที ทั้งนี้เพื่อช่วยสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานทุกคน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความเครียดได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มความสุขให้กับการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ อีกด้วย
หลักการของการทํางานร่วมกันที่ดีมีอะไรบ้าง?
หากคุณเป็นอีกคนที่ต้องการสร้างทักษะการทำงานเป็นทีมให้องค์กร เพื่อสานต่อความสำเร็จได้ครบทุกแง่มุม แต่ยังไม่มั่นใจว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ลองมาดูถึงหลักการทำงานร่วมกันที่จะช่วยให้คุณบริหารทีมให้ทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดได้กัน
1. สร้างความชัดเจน
การทำงานเป็นทีมที่ดีเริ่มต้นจากความชัดเจน ทั้งในเรื่องของความรับผิดชอบ เป้าหมายของสมาชิกแต่ละคน รวมถึงเป้าหมายของทีมในภาพรวม ทั้งนี้เพื่อช่วยสมาชิกทุกคนสามารถทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
2. สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกัน
เมื่อกำหนดเป้าหมายและความรับผิดชอบชัดเจนแล้ว ในส่วนต่อมา คือ การสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานร่วมกันในทีม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความไว้วางใจ เชื่อใจ ไปจนถึงการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่ทุกคนให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตลอดจนสามารถแสดงออกและรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่นได้ โดยปราศจากการตัดสิน
3. มีการสื่อสารเป็นประจำ และสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ
การสื่อสารที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา และสม่ำเสมอ จะช่วยให้สมาชิกในทีมเข้าใจเป้าหมายและบทบาทของตนเองได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยลดข้อขัดแย้งและปัญหาในการทำงาน ส่งผลให้ทำงานสำเร็จลุล่วงได้อย่างรวดเร็วและมีคุณภาพ
4. เข้าใจถึงความหลากหลายของทุกคนในทีม
การทำงานเป็นทีมที่ดี คือ การเข้าใจถึงความหลากหลายของคนในทีม แต่สามารถมองเห็นโอกาสจากความแตกต่างของแต่ละคนได้ ทำให้สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาทักษะ ไปจนถึงการแชร์ประสบการณ์และความคิดเห็นใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างสรรค์นวัตกรรม มองเห็นการแก้ปัญหาด้วยวิธีที่แตกต่าง และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นได้
5. สร้างความภาคภูมิใจให้กับทีม
การสร้างความภาคภูมิใจให้กับทีมถือเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนอกจากจะช่วยให้รู้สึกถึงคุณค่าที่มีต่อการทำงานแล้ว ยังช่วยทำให้แต่ละคนรู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ทำและอยากพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ
จะเห็นได้ว่า การทำงานเป็นทีม ไม่ได้เป็นเพียงแค่การทำงานร่วมกันอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของทุกคน จนนำมาซึ่งการสนับสนุนกันและกัน ส่งผลให้ทีมสามารถบรรลุเป้าหมายและการทำงานที่ตั้งใจเอาไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้วยเหตุนี้ การทำงานเป็นทีมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่พนักงาน หัวหน้า ผู้บริหาร ไปจนถึงเจ้าขององค์กร ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากปราศจากรากฐานของทีมที่แข็งแรงไป โอกาสสู่ความสำเร็จก็อาจมาช้าและริบหรี่ลงไปเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูล:
- 9 ทักษะสำคัญในการทำงานเป็นทีมที่คุณจำเป็นต้องมี, Meta
- 6 วิธีการทำงานเป็นทีมที่ทุกองค์กรต้องรู้, Krungsri
- สร้างทีมงาน (Teamwork) ให้มีศักยภาพเพื่อการทำงานระบบทีมที่มีประสิทธิภาพ, HREX Asia
- “รักษา” และ “ปรับการทำงาน” ของทีมอย่างไรให้เวิร์คในช่วงวิกฤต, Krungsri