Organizational Ready For Change

แชร์เทคนิคการสร้างวัฒนธรรมองค์กรสู่ความสำเร็จ คนทำงานเป็นสุข

เรียนรู้เทคนิคการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแรง เหมาะสมกับคนทำงาน และสอดคล้องกับเป้าหมายความสำเร็จขององค์กรในยุคแห่งดิจิตัล

September 3, 2024
·
0
mins
Maytwin Pitipornvivat (Mum+)
เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์
แชร์เทคนิคการสร้างวัฒนธรรมองค์กรสู่ความสำเร็จ คนทำงานเป็นสุข

เทคนิคการสร้างวัฒนธรรมองค์กร สำเร็จและสุขได้ในเวลาเดียวกัน

วัฒนธรรมองค์กร ไม่เพียงแต่จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของการทำงาน และลักษณะของคนที่จะเข้ามาร่วมองค์กรเท่านั้น แต่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งยังเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน ทรัพยากรบุคคล รวมไปถึงสภาพแวดล้อมในที่ทำงานด้วย

หากคุณเป็นอีกคนที่อยู่ในฐานะผู้นำ และมุ่งหวังที่จะปรับเปลี่ยนหรือสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในบทความนี้ BASE Playhouse มาปูพื้นฐานการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่นำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ โดยไม่ลืมที่จะใส่ใจ Well-being ของคนในทีม

ทำความเข้าใจเรื่อง “วัฒนธรรมองค์กร” 

เพราะรากฐานที่แข็งแรงเป็นสเต็ปแรกที่นำไปสู่สิ่งปลูกสร้างที่มั่นคง เช่นเดียวกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับทุกแง่มุมของ “วัฒนธรรมองค์กร” ให้ดีเช่นกัน

ดังนั้น ก่อนที่จะไปรู้จักเทรนด์และเทคนิคการสร้างวัฒนธรรมองค์กร มาปูพื้นฐานความเข้าใจเกี่ยวกับวัฒนธรรมองค์กรให้มากขึ้นในส่วนนี้กัน

วัฒนธรรมองค์กร คืออะไร?

วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) คือ แบบแผนสำหรับการปฏิบัติตัวในองค์กร เพื่อจุดมุ่งหมายให้องค์กรเป็นหนึ่งเดียว มีทรัพยากรบุคคลและสามารถขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน จนนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายที่องค์กรต้องการ 

แน่นอนว่าวัฒนธรรมองค์กรย่อมประกอบไปด้วยปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เริ่มตั้งแต่แนวคิดการทำงาน ค่านิยม วิธีการปฏิบัติตัวต่อเพื่อนร่วมทำงาน ทัศนคติที่พนักงานมีต่อองค์กร และทัศนคติที่พนักงานมีต่อการเติบโตของตัวเองภายในองค์กรด้วย

วัฒนธรรมองค์กร สำคัญอย่างไร?

เมื่อเริ่มก่อตั้งองค์กร เชื่อว่าผู้บริหารองค์กร หรือ เจ้าของธุรกิจหลายคนเอง มักเกิดข้อสงสัยว่า วัฒนธรรมองค์กรนี้มีความสำคัญมากแค่ไหน เพราะการมองหาพนักงานที่มีความสามารถสูงและตอบโจทย์กับตำแหน่งงาน ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จได้ เฉกเช่นคำกล่าวที่ว่า “Put the right man into the right job” หรือ “เลือกคนที่เหมาะสมกับงาน”

จริงอยู่ว่า การ “เลือกคนที่เหมาะสมกับงาน” เป็นส่วนสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จได้ แต่ “ความเหมาะสม” ในส่วนนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ลักษณะงานเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึง “สภาพแวดล้อม” ที่เหมาะสมและไปในทิศทางเดียวกับบุคคลด้วย

หากยังนึกภาพไม่ออก ลองเปรียบเทียบสถานการณ์ที่ทำงาน 2 แบบให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

สมมติว่า A เป็นคนที่ทำงานมีประสิทธิภาพสูง หรือเป็น High Performance Employee แน่นอนว่า A รับผิดชอบงานที่ตนเองทำได้ดี มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ แต่ด้วยความที่บ้านอยู่ไกลที่ทำงานมาก A จึงมาทำงานไม่ตรงเวลาบ่อยครั้ง

ดังนั้น หาก A ไปอยู่ในองค์กรที่เคร่งครัดเรื่องเวลาเข้างานมาก A ก็จะโดนมองว่ามีความเป็นพิษ หรือ Toxic กับองค์กร จนนำไปสู่การกดดันทางสังคมเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ไปจนถึงผู้บริหาร นานวันเข้า แรงกดดันจากวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของ A อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน สุขภาพใจ และสุขภาพกายของ A 

ถ้ามองในมุมกลับ หาก A ได้ทำงานในองค์กรที่ให้มีวัฒนธรรมองค์กรที่ความสำคัญกับประสิทธิภาพด้านการทำงาน แต่ไม่ได้สนใจเรื่องเวลาการเข้างาน ตัวของ A ก็มีแนวโน้มที่จะมีความสุขกับการทำงาน เนื่องจากวัฒนธรรมองค์กรเอื้ออำนวยต่อตัวตนของ A มากกว่า

จะเห็นได้ว่า วัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันแม้เพียงเล็กน้อย กลับสามารถส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพการทำงาน ไปจนถึงสุขภาพกายและใจของพนักงานได้ไม่เหมือนกัน ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เองก็มีส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน อัตราการลาออกของพนักงาน รวมถึงความสำเร็จขององค์กรในอนาคตด้วยเช่นกัน

การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ควรเริ่มต้นอย่างไร?

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรจำเป็นต้องมีอะไรบ้าง เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ผู้บริหารองค์กรสงสัยเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารองค์กรที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจได้ไม่นานนัก แต่ยังบริหารองค์กรให้ประสบความสำเร็จ พนักงานมีความสุข ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และมีอัตราการลาออกของพนักงาน หรือ Turnover Rate น้อยที่สุด

โดยพื้นฐานแล้ว การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีประสิทธิภาพจะประกอบไปด้วย 4 ปัจจัยหลัก ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้

1. กำหนดเป้าหมาย วิสัยทัศน์ และค่านิยมให้ชัดเจน

“วิสัยทัศน์” และ “ค่านิยม” ถือเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง อย่างไรก็ดี ทั้ง 2 ปัจจัยนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำงานไปในทิศทางเดียวกันด้วยเช่นกัน

โดย “วิสัยทัศน์” หรือ Vision นี้เปรียบได้กับ “เป้าหมายองค์กร” ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยให้พนักงานเห็นภาพว่า นอกเหนือจากการสร้างรายได้แล้ว ตอนนี้เรากำลังทำงานไปเพื่ออะไรบ้าง ในขณะที่ “ค่านิยม” หรือ Values จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและทัศนคติของพนักงานที่เข้ามาร่วมองค์กร ซึ่งหากพนักงานมีค่านิยมที่ไปในทิศทางเดียวกันมากเท่าไหร่ องค์กรก็จะยิ่งเป็นหนึ่งเดียว ทำให้สามารถทำงาน บริหารงาน และขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าพร้อมกันได้

ตัวอย่างเช่น วิสัยทัศน์ของ Netflix คือ “Becoming the best global entertainment distribution service” และมีเป้าหมายที่จะ “to entertain the world” ซึ่งการจะมุ่งไปสู่เป้าหมายนี้ได้ Netflix จึงมีการสร้างวัฒนธรรมองค์กรในรูปแบบที่เรียกว่า People over process หรือเน้นคนทำงานมากกว่ากระบวนการทำงาน ทำให้ Netflix มีการทำงานที่ยืดหยุ่นสูง เลือกทำงานจากที่ไหนก็ได้ เพื่อกระตุ้นการสร้างความคิดสร้างสรรค์ของแต่ละบุคคลให้ได้มากที่สุด 

แน่นอนว่า ด้วยการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเช่นนี้ ทำให้ Netflix คว้ารางวัล Best Places to Work อันดับที่ 40 ของโลกจากการจัดอันดับของ Glassdoor ได้สำเร็จ

2. หาแนวทางการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเหมาะกับองค์กร

การสื่อสารภายในองค์กร ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญต่อการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างมาก เพราะหากไม่สามารถสื่อสารให้เข้าใจได้ ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาตามมาในองค์กรได้เช่นกัน

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ ลองสังเกตในองค์กรของตัวเองดูว่า ตอนนี้เพื่อนร่วมงาน พนักงาน หรือแม้แต่ผู้บริหารเอง มีอิสระในการคิดและสื่อสารมากแค่ไหน ทุกคนให้ความเคารพซึ่งกันและกันไหม มีจำกัดในการสื่อสารหรือไม่ หรือในเวลาที่มีข้อขัดแย้งในองค์กรเกิดขึ้น พนักงานแต่ละคนสามารถรับมือ สื่อสาร และจัดการกับปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน

แน่นอนว่า หากพนักงานรู้สึกถึงข้อจำกัดในการสื่อสารมากเท่าไหร่ ในอนาคตก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาและข้อขัดแย้งในการดำเนินงานตามมาได้หลายรูปแบบ ด้วยเหตุนี้ องค์กรจึงควรวางแนวทางการสื่อสารและข้อปฏิบัติในองค์กรที่ตอบโจทย์กับวิสัยทัศน์และค่านิยมที่กำหนดให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นพิษกับพนักงาน

3. ให้ความสำคัญกับ Well-being ของพนักงาน

จากรายงานของ Linkedin ระบุว่า พนักงานในปัจจุบันมองหาองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องของโอกาสการพัฒนาต่อยอดทางอาชีพ เวลาการทำงานที่ยืดหยุ่น และการสนับสนุนด้านสุขภาพจิตของพนักงาน ซึ่งหากมองในภาพกว้างมากขึ้น อาจกล่าวได้ว่า พนักงานในปัจจุบันกำลังมองหาองค์กรที่สามารถสร้าง Well-being ให้กับพนักงานได้นอกเหนือจากการสร้างรายได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น 

ในจุดนี้เอง องค์กรจึงควรหาวิธีรวบรวมข้อมูลความต้องการด้าน Well-being ของพนักงาน รวมถึงความต้องการของตลาดในปัจจุบัน เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร ทั้งนี้เพื่อดึงดูดพนักงานที่มีความสามารถสูง แต่มีชุดความคิดที่คล้ายคลึงกันเข้ามาทำงาน รวมไปถึงเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานเชิงบวกให้กับพนักงานมากยิ่งขึ้น

4. สนับสนุนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับทุกเรื่องในชีวิต องค์กรเองต้องปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ปรับเปลี่ยนไปตามเป้าหมาย การดำเนินการ และความต้องการที่เปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาเปลี่ยนไป

ดังนั้น องค์กรจึงต้องพิจารณาเป้าหมายและการดำเนินงาน พร้อมหมั่นเก็บข้อมูลอยู่เสมอ เพื่อให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรอบด้าน พร้อมมองหาช่องทางพัฒนาด้านที่ต้องปรับปรุง ตลอดจนรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ทุกคนต่อไป

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้ตอบโจทย์และยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยเวลา ทั้งในการรวบรวมข้อมูล คิด วิเคราะห์ วางแผน นำไปปรับใช้ และสุดท้ายจึงมาปรับปรุงและพัฒนาต่อไป หวังว่าบทความที่ BASE Playhouse นำมาฝากนี้จะช่วยปูพื้นฐานให้ผู้บริหารและเจ้าขององค์กรได้เข้าใจถึงการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เหมาะสม เพื่อสร้างองค์กรที่ประสบความสำเร็จในแง่ของการทำงาน พร้อมกับความสุขของพนักงานโดยรวมได้

อ้างอิงข้อมูล

Netflix Mission and Vision Statement, businessmodelanalyst