Project Management

Knowledge Lens สวมเลนส์มองความรู้ มาออกแบบความเก่งไปด้วยกัน

วิธีง่ายๆ สำหรับวางแผนการเติมความรู้ให้กับเก่งได้ในทุกเรื่อง คุณเคยมองเห็นความรู้ที่ลอยอยู่รอบตัวมั้ย?

·
0
mins
Peesadech Pechnoi (Mac)
ภีศเดช เพชรน้อย
Knowledge Lens สวมเลนส์มองความรู้ มาออกแบบความเก่งไปด้วยกัน
ทำไมคนนั้นเก่งเรื่อง Digital Marketing จังทั้งที่ไม่ได้จบมา
อยากเก่งเรื่อง Data Sci แต่ไม่รู้จะเริ่มยังไงดี

เวลาเจอโมเม้นต์แบบนี้ ผมก็มักจะหยิบแว่นอันนึงมาสวม แว่นนั้นมีชื่อว่า Knowledge Lens
แว่นนี้ผมได้มาตอนเรียนปริญญาโท แล้วบังเอิญไปเจอวิชาที่ชอบ Knowledge Managementเอาจริงๆ ในวิชานั้น ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เพราะส่วนใหญ่จะสอนว่าองค์กรควรจะพัฒนาพนักงานในด้านการเติมความรู้อย่างไรบ้าง ให้ตอบเป้าหมายองค์กรให้มากที่สุดแต่ชุดคำถามของอาจารย์ต่างหาก ที่ชวนผมมีคิดถึงรูปแบบต่างๆ ของ “ความรู้”ว่ามนุษย์อย่างเรา สามารถ นำเข้า บอกต่อ วิเคราะห์ แปลงร่าง หรือนำความรู้ไปใช้ เพื่อให้เจ้าสิ่งที่มันจับต้องไม่ได้เหล่านี้ กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้และเกิดประโยชน์กับตัวเรา

Digital เมื่อโลกมีชั้นข้อมูลซ้อนทับอยู่

ตอนคอนเซ็ปอย่าง Digital Twin เกิดขึ้น ผมงงอยู่สักพัก ตอนพอตอนอ่านนิยามก็เข้าใจได้โดยง่าย ว่าในทุกวันนี้ ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถวัดและแปลงข้อมูลเป็น Digital คู่ขนานไปพร้อมกัน ยกตัวอย่างเช่น Tesla ระหว่างขับบนถนนจริงๆ เซนเซอร์หลายสิบตัวก็ดึงข้อมูลจากถนน ความเร็ว สภาวะอากาศมาประมวลผล กลายมาเป็นรถยนต์อีกคันในโลก Digital ที่สามารถช่วยให้เราดู วิเคราะห์ ตัดสินใจตามไปได้ ถ้าเราหยิบเครื่องมืออย่าง Digital มาเป็นเลนส์ เราจะเห็นว่ามีข้อมูลต่างๆ ไหลไปมาในโลกดิจิตอลเยอะมาก แล้วถ้าเป็น “ความรู้” ละ ?

ความรู้อยู่ตรงไหนในชีวิตประจำวัน

ถ้าเราสามารถหยิบแว่นหนึ่งมา แล้วมองเห็นได้ว่า ความรู้มันไหลไปมายังไง เราจะจัดการกับความรู้มันได้ดีขึ้นหรือเปล่า ยกตัวอย่างการมองความรู้ที่เกิดขึ้นกัน ดังนี้

  • การหยิบมือถือมาไถ Feed Facebook แล้วเจอข่าวใหม่ๆ ที่ชวนให้เราสนใจและอ่านต่อ
  • การไปช็อปปิ้งแล้วพนักงานขายบอกว่า คุณพี่รู้ไหมคะ สุขภาพคุณพี่ต้องเริ่มจากการนอนก่อน ที่นอนคุณพี่ต้องเป็น…. (เคสนี้เป็น knowledge จริงเปล่าไม่รู้ แต่อย่างน้อยเราก็เห็นมัน)
  • การมองเห็นความรู้การพัฒนาตัวเอง จากหนังสือ How-to แปลไทยที่ช้าไปกว่าต่างประเทศอย่างน้อย 2 ปี ทำให้ศัพท์บางคำ เรื่องบางเรื่อง เราก็จะพัฒนาในด้านนั้นช้าไปสักพัก สังเกตได้จากกระบวนการคิดอย่าง Design Thinking หรือหลักการบริหารองค์กรรูปแบบใหม่ๆ แต่ช่วงนี้พี่เคน The Standard และเครือ Mission to the moon พยายามแก้ปัญหานั้นอยู่โดยการเอา Buzzword มาพูดให้ฟังบ่อยๆ ความเร็วของการกระจายความรู้ก็มากขึ้น
  • การเข้าไปออฟฟิตใหม่ แล้วรอให้รุ่นพี่มาสอนงาน โดยที่ความเป็นจริง ถ้าเราแยกความรู้เฉพาะขององค์กร กับความรู้ Standard ที่สามารถโอนย้าย (Transferable) จากประสบการณ์ที่เดิมของเราได้ เราจะเริ่มทำงานได้เร็วขึ้น

นอกจากนี้ เคสที่สำคัญที่ผมชอบมากที่สุดคงเป็น “การมองความรู้ เพื่อสร้างความเก่ง”

ความเก่งสร้างได้อย่างไรบ้าง

ถ้าพูดคำว่าความเก่งในบริบทเดิม ภายใต้ความน่ารักของการศึกษาไทย
เก่งฟิสิกส์ แปลว่า ทำเกรดฟิสิกส์ได้เกรดสี่ มากกว่านั้นคือได้คะแนนตอน Admission ดีเยี่ยม และมากกว่านั้นสุดๆ คือเป็นฟิสิกส์โอลิมปิก
แต่ขอปูบริบทก่อน ว่าความเก่งในที่นี่ขอนิยามเป็นความเก่งที่…ทำงานได้ ทำบางอย่างได้ เรียกง่ายๆ ว่า เก่งจนทำงานจบ เช่น

  • ทำอาหารเก่ง = ทำอาหารไม่ไหม้ อร่อย
  • ขับรถเก่ง = ขับรถได้คล่อง เห็นป้ายเลี้ยวถูก เข้าใจวิธีใช้อุปกรณ์นู้นนี่
  • ทำ Excel เก่ง = จำสูตรได้ ลองใช้สูตรถูก เลือกตัวแปรถูก
  • เป็นหัวหน้าทีมที่เก่ง = กระจายงานได้ ตั้งเป้าหมายเป็น track เป้าได้ inspire ทีมดี

จริงๆ แล้วความเก่ง มันต้องมาแบบครบสูตรคือ Knowledge + Skill + Mindset
แน่นอนว่า Knowledge หรือความรู้มักจะเป็นจุดเริ่มต้น เช่น การรู้ภาษา เราต้องจำคำศัพท์ก่อน การขับรถ เราต้องจำอุปกรณ์ เข้าใจวิธีการใช้ก่อน ดังนั้นในบทความนี้ ขอเน้นๆ ที่ความรู้เป็นหลักก่อนนะครับ

คำถามช่วยสังเกตความรู้?

ถ้ามองไปสี่ตัวอย่างข้างบน แล้วผมถามเพิ่มว่า

  1. จะเก่งสิ่งเหล่านั้นได้ ต้องใช้ความรู้อะไรบ้าง (แตกองค์ประกอบความรู้ที่เกี่ยวข้อง)
  2. ความรู้แบบนั้น เราจะได้มันมาจากไหน

แน่นอน ถ้าลองเลือกบางข้อมาตอบ มันจะได้คำตอบออกมาเยอะ ยาว และมากล้นมาๆ
เช่น ทำอาหารเก่ง ต้องมีความรู้..

  • ความรู้การใช้อุปกรณ์ครัว
  • ความรู้วัตถุดิบ
  • ความรู้สูตรอาหาร ลำดับการใส่ส่วนผสม
  • ความรู้การถนอมอาหาร
  • ความรู้ด้านการจัดจาน

แล้วเราจะเตรียมความรู้นี้จากไหน มีวิธีที่ได้ความรู้พรีเมียม มีประสิทธิภาพ มีเทคนิคที่ลองทำแล้วอยู่หรือเปล่า

  • ความรู้การใช้อุปกรณ์ครัว -> ได้ข่าวว่าเครื่องครัวจากญี่ปุ่นที่ทำมา 100 ปีมาเปิด Workshop
  • ความรู้วัตถุดิบ -> คุณยายชอบไปเดินตลาดมาตลอดยี่สิบปี แม่นเรื่องวัตถุดิบมากๆ
  • ความรู้สูตรอาหาร ลำดับการใส่ส่วนผสม -> เชฟป้อมเขียนหนังสือสูตรอาหารไทยสูตรโบราณไว้
  • ความรู้การถนอมอาหาร -> เดี๋ยวลองเสิร์ช Google ดูก่อนว่ามี Workshop เรื่องนี้มั้ย
  • ความรู้ด้านการจัดจาน -> มีหลักสูตรนี้ใน Masterclass

ถ้าเราถามคำถามตัวเองแบบนี้ แล้วลอง Validate ตัวเองหน่อยๆ ว่าวิธีการนี้มีประสิทธิภาพมากสุดหรือยัง เพียงเท่านี้ เราก็จะได้เติมความรู้ที่ใช่ ให้กับสมอง เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการเปลี่ยนมันไปเป็นความเก่งให้เราในเวลาที่เร็วที่สุดขออีกหนึ่งตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพจริงในกรณีที่เชื่อว่าหลายๆ คนต้องเจอ
สมมติเราเข้าทำงานใหม่ แล้วได้งานที่ท้าทายขึ้นกว่าเดิม รู้เพียงแค่ Job Desciption กับการคุยกับหัวหน้าตอนสัมภาษณ์ว่าต้องทำอะไรบ้าง เราก็สามารถนำสองคำถามด้านบนไปใช้เตรียมตัวก่อนได้ เช่น

  1. งานนี้ เราจะได้เก่งได้ ต้องใช้ความรู้อะไรบ้าง บางความรู้อาจจะเป็นสิ่งที่มีพื้นฐานอยู่แล้ว บางความรู้ต้องเติมใหม่ เช่น ความรู้เฉพาะขององค์กร บางความรู้มาพร้อมกับเนื้อหางานใหม่ เช่น การขึ้นเป็นหัวหน้า ต้องรู้วิธีคุมทีมเพิ่ม
  2. ความรู้แบบนั้น เราจะได้มันมาจากไหน เราเติมเองได้ไหม หรือต้องรอ HR มาเติม เช่น Culture หรือ Way of working ขององค์กร หรือต้องรอให้หัวหน้ามาเติม เราสามารถเตรียมตัวโดยนัดหัวหน้าพร้อมกับลิสต์คำถามหรือความรู้ที่ต้องการเลยได้ไหม

เพียงเท่านั้นเราก็สามารถสร้างแผนความเก่งของตัวเองด้วยการหยิบ lens ของการมอง Knowledge ที่ต้องใช้ และเอามันมาวางแผนการเติม การพัฒนาให้ตัวเองสามารถเติมความรู้ที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ ขั้นตอนง่ายๆ เหล่านี้สามารถช่วยให้ทุกคนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น โดยเลือกความเก่งที่เราอยากมีแล้ววางแผนมันด้วยวิธีการเติมความรู้แบบนี้ อย่างน้อยเราจะเห็นภาพมันชัดขึ้น และเห็น Step ของมันได้ดีขึ้น การเติมความรู้ใหม่ๆ ทีมีประสิทธิภาพ ก็จะไม่ได้ยากกับเราอีกต่อไป

สรุป

1. มองให้เห็นว่า ในเรื่องๆ นึง มีความรู้อะไรที่อยู่รอบตัว หรือจำเป็นต้องมีบ้าง

2. แตกองค์ประกอบความเก่งที่เราอยากมี เป็นความรู้ที่ต้องเติม

3. ถามตัวเองว่า มีวิธีการเติมความรู้ในเรื่องนั้นยังไงให้มีประสิทธิภาพ

บทความนี้เป็นหนึ่งในซีรีย์ Learning Design by BASE Playhouse เป้าหมายของเราคือการ Uplifting Human Ability ยกระดับความสามารถของมนุษย์ผ่านกระบวนการออกแบบการเรียนรู้และการนำแนวคิดของ Gamification มาใช้ในการสร้างการเรียนรู้ที่สนุกผ่าน Learning Format ต่างๆ ให้กับองค์กร มหาวิทยาลัย และโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทย