แพชชั่นในการทำงานคืออะไร ทำไมองค์กรต้องให้ความสำคัญ?
นอกจากทักษะแล้ว องค์กรควรให้ความสำคัญกับแพชชั่นในการทำงานของพนักงานด้วย แล้วองค์กรจะวิธีบริหารแพชชั่นในการทํางานได้อย่างไรบ้าง
แพชชั่นในการทำงาน คืออะไร ทำไมองค์กรจึงต้องให้ความสำคัญ
แพชชั่นในการทำงาน คือ อีกหนึ่งสิ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กับทักษความสามารถของพนักงานในการที่จะการสร้างความสำเร็จระยะยาวให้กับองค์กร แต่ “แพชชั่นในการทำงาน” แท้จริงคืออะไรกันแน่ แล้วองค์กรจะมีวิธีบริหารแพชชั่นในการทำงานอย่างไรให้สอดคล้องกับเป้าหมายของอค์กร ในขณะที่ยังส่งเสริม Wellbeing ของพนักงานได้ด้วย มาไขข้อสงสัยไปพร้อมกับ BASE Playhouse ในบทความนี้
แพชชั่นในการทำงาน คืออะไร?
แพชชั่นในการทำงาน (Passion for Work) คือ ความรู้สึกที่ดีที่คนทำงานมีให้กับงาน สายอาชีพ หรือ โปรเจกต์ที่ทำอยู่ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ไม่เพียงแต่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ แต่ยังกระตุ้นให้พนักงานเกิดความตั้งใจ กระตือรือร้น และสนุกไปกับงานที่ทำ จนสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพสูงออกมาได้อย่างต่อเนื่องด้วย
การมีแพชชั่นในการทำงานยังเป็นตัวช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเพื่อนร่วมงาน ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยสร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ในองค์กร จนทำให้เกิดการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนได้
ความสำคัญของแพชชั่นในการทำงาน คืออะไร?
การมีแพชชั่นในการทำงาน ไม่ได้ส่งผลดีต่อความสำเร็จขององค์กรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อความสุขและความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตส่วนตัวของพนักงานด้วยเช่นกัน
ลองคิดดูง่ายๆ ว่า หากเรารักและรู้สึกดีกับสิ่งที่ทำ ตัวเราก็มีแนวโน้มที่จะพยายามทำสิ่งนั้นออกมาให้ดีที่สุด และยังจะเป็นแรงผลักดันให้เราอยากพัฒนา อยากเก่ง และไม่กลัวที่จะทำพลาดเพื่อที่จะเรียนรู้ด้วย
และเมื่อผลงานสำเร็จลุล่วงไปแล้ว หลายๆ คนก็ย่อมรู้สึกถึงความภูมิใจที่มีให้กับตัวเอง งานที่ทำ ไปจนถึงความพยายามทั้งหมดที่ผ่านมา ซึ่งความรู้สึกภูมิใจจากการทำในสิ่งที่รักและผลลัพธ์ที่ได้มานี้ เป็นส่วนสำคัญของกระบวนการยอมรับตัวเอง ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกพึงพอใจในชีวิตส่วนตัวนั่นเอง
นอกจากจะสร้างความรู้สึกพึงพอใจให้กับตัวเองได้แล้ว แพชชั่นในการทำงานยังช่วยสร้างบรรยากาศการทำงานที่เป็นมิตร มีพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ซึ่งส่งผลให้พนักงานทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาการหมดแพชชั่นในการทำงาน คืออะไร สังเกตได้อย่างไร?
เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก เชื่อว่าหลายๆ คนเองต้องเคยมีความรู้สึก “หมดแพชชั่น” ที่มาในรูปแบบของอาการหมดอารมณ์ หมดความชอบ เบื่อหน่ายกับสิ่งที่เคยรัก ไปจนถึงความรู้สึกท้อใจที่ต้องรับมือกับหลากหลายสถานการณ์
สำหรับโลกการทำงานแล้ว การหมดแพชชั่นนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากการทำงาน ความกดดัน ความเบื่อหน่ายจากการทำอะไรเดิมๆ ไปจนถึงความรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับผลตอบแทนจากการตั้งใจทำงาน หรือแม้แต่ ความรู้สึกไร้ตัวตนในสายตาของเพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานด้วย
อาการหมดแพชชั่นจากการทำงานสังเกตได้ง่ายๆ จากอาการเหนื่อยล้าและหงุดหงิดของพนักงาน และคุณภาพของงานที่เริ่มลดลง ซึ่งหลายๆ ครั้งจะแสดงออกมาเป็นความเฉื่อยชา เช่น การไม่ค่อยอยากเข้าร่วมกิจกรรม การขาดงาน การมาทำงานสายที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการทำงานให้เสร็จไปวันๆ โดยไม่ใส่ใจที่จะพัฒนาหรือเรียนรู้อะไรใหม่ๆ
อย่างไรก็ดี อาการหมดแพชชั่นในการทำงานนั้นมีความแตกต่างจาก “ภาวะหมดไฟ” หรือ Burnout Syndrome ตรง ที่ภาวะหมดไฟนั้น เกิดจากความเครียดสะสมในระยะยาวจนส่งผลให้บุคคลรู้สึกเหนื่อยล้าและไม่มีแรงที่จะทำงานต่อได้ แต่ภาวะหมดแพชชั่นในการทำงานนั้นเป็นภาวะที่รู้สึกหมดอารมณ์ หรือ รู้สึกเบื่อกับงานที่ทำมากกว่า
แต่ไม่ว่าจะอย่างไร หากไม่รีบหาทางแก้ไข อาการหมดแพชชั่นในการทำงาน ก็อาจนำไปสู่ภาวะหมดไฟ ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน ความสำเร็จขององค์กร หรือ อัตราการลาออกที่สูงขึ้นเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อ Wellbeing และบรรยากาศในการทำงานขององค์กรด้วย
5 สาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานหมดแพชชั่นในการทำงาน
องค์กรหลายแห่งเชื่อว่า พนักงานที่หมดแพชชั่นในการทำงาน คือ พนักงานที่เหนื่อยล้า และเพียงต้องการแรงกระตุ้นเพื่อให้ทำงานได้มากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัจจัยที่ทำให้พนักงานหมดแพชชั่นในการทำงานมีมากกว่าแค่ความเหนื่อยล้า
1. ขาดการเติบโตในสายงาน
เมื่อพยายามทำงานอย่างเต็มที่ หลายๆ คนเองก็คงคาดหวังถึงการเติบโตในสายงานเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง หรือ เลื่อนเงินเดือนให้สูงขึ้นจากผลงานที่ทำออกมา
อย่างไรก็ดี หากพนักงานรู้สึกว่าตัวเองไม่มีที่ทางในองค์กรที่ทำงานอยู่ หรือ ไม่เห็นถึงเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจน อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกท้อแท้และลดแรงจูงใจในการทำงาน จนเป็นที่มาของอาการหมดแพชชั่นในการทำงานได้
2. ขาดความท้าทายในการทำงาน
เมื่อขาดความท้าทายในการทำงาน นอกจากจะไม่ส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถแล้ว ยังอาจทำให้พนักงานรู้สึกเบื่อ หมดอารมณ์ หรือ รู้สึกชินชากับงานที่ทำ จนทำให้หมดแพชชั่นจากการทำงานได้
ดังนั้น เพื่อรักษาความรู้สึกของพนักงานเอาไว้ อย่าลืมวางแผนเพิ่มความท้าทายในการทำงานใหม่ๆ ให้พนักงานอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการมอบงานที่มีความหมายกับพนักงาน หรือ โปรเจกต์ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้และการพัฒนาในระยะยาว เพื่อช่วยให้พนักงานรู้สึกถึงแพชชั่นในการทำงานอีกครั้ง
3. ค่าตอบแทนและสวัสดิการไม่เหมาะสม
เมื่อพนักงานรู้สึกว่า ค่าตอบแทน และ สวัสดิการที่ได้รับจากบริษัทนั้นไม่เหมาะสมกับงานที่ทำ ความพยายาม รวมถึงเวลาที่เสียไปกับการทำงาน พนักงานหลายๆ คนอาจรู้สึกหมดแพชชั่นในการทำงาน และไม่เห็นถึงผลตอบแทนที่ได้รับจากความพยายามทั้งหมดที่เสียไป
หากปล่อยไว้ไม่รีบวางแผนรับมือ องค์กรอาจต้องเสียพนักงานที่มีความสามารถ รวมถึงค่าใช้จ่าย ค่าเสียโอกาส และเวลาที่ต้องหาพนักงานใหม่มาทดแทนเช่นกัน
4. ขาดการยอมรับ
สาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานหมดแพชชั่นในการทำงาน คือ การขาดการยอมรับ ทั้งจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงตัวองค์กรเอง
จริงอยู่ว่า งานทุกชิ้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้พนักงานเรียนรู้ เพิ่มประสบการณ์ และเติบโตในสายงานของตัวเอง แต่หากปราศจากการยอมรับในที่ทำงานด้วยกัน อาจทำให้พนักงานรู้สึกหมดใจกับงานที่ทำและองค์กรที่อยู่ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานแล้ว องค์กรยังอาจเสี่ยงเจอกับอัตราการลาออกที่สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
5. วัฒนธรรมองค์กรที่ไม่แข็งแรง
วัฒนธรรมองค์กรให้การสนับสนุนพนักงาน มีพื้นที่เปิดกว้างสำหรับการพูดคุย และมีความโปร่งใสและความเท่าเทียมให้กับพนักงานทุกคน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ช่วยรักษาแพชชั่นในการทำงานของพนักงานเอาไว้ได้
เพราะหากวัฒนธรรมองค์กรไม่แข็งแรง พนักงานอยู่ในสภาวะหวาดกลัวต่อการพูดคุย การถามถึงความโปร่งใสในกระบวนการต่างๆ หรือ มีความรู้สึกไม่เท่าเทียมจากผู้บริหาร ไม่ช้าไม่นานพนักงานก็มีแนวโน้มที่จะหมดไฟกับองค์กรและงานที่ทำได้เช่นกัน
3 วิธีบริหารแพชชั่นในการทำงานที่ HR ไม่ควรมองข้าม
1. สร้างแรงจูงใจในการทำงานที่ชัดเจน
“แรงจูงใจ” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยรักษาแพชชั่นของพนักงานเอาไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ HR จึงต้องปรึกษากับหัวหน้า ผู้บริหาร และฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแรงจูงใจที่เหมาะสม ตลอดจนแจ้งกับพนักงานอย่างชัดเจนและโปร่งใส
ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง เงินเดือน สวัสดิการ หรือ ปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง หากต้องการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานแล้ว อย่าลืมทำให้ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีการพูดคุยกับพนักงานอย่างตรงไปตรงมาถึงเงื่อนของแรงจูงใจแต่ละแบบ
2. สนับสนุนการดูแลสุขภาพจิต
การดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน ถือเป็นวิธีบริหารแพชชั่นในการทำงานที่หลายคนมองข้าม แต่เชื่อหรือไม่ว่า ความเครียด ความกดดัน และความรู้สึกไร้ค่า นั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานหมดใจ หมดอารมณ์ และหมดแพชชั่นในการทำงานได้
ด้วยเหตุนี้ HR จึงควรสนับสนุนการดูแลสุขภาพจิตของพนักงาน ทั้งจากสวัสดิการที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต กิจกรรมเพื่อสุขภาพ ไปจนถึงการบริหารจัดการปริมาณงาน ความคาดหวัง รวมถึงแผนการดำเนินการต่างๆ ที่เหมาะสมกับพนักงาน
3. สร้างบรรยากาศในการทำงานที่เปิดกว้าง
แม้จะมีผู้คนหลากหลายแบบมารวมตัวกัน แต่องค์กรสามารถสร้างพื้นที่ทำงานที่ตอบโจทย์พนักงานได้ ผ่านการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างตรงไปตรงมา ตลอดจนสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจที่ส่งผลต่อความเป็นอยู่ในองค์กรได้
เท่านี้ก็เห็นภาพมากขึ้นแล้วว่า แพชชั่นในการทำงานคืออะไร ตลอดจนรู้จักวิธีบริหารแพชชั่นในการทำงานที่เหมาะสมแล้ว อย่าลืมนำเทคนิคที่ BASE Playhouse นำมาฝากนี้ไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับองค์กร เพื่อรักษาแพชชั่นของพนักงานเอาไว้ให้ได้มากที่สุดด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก:
- องค์กรควรทำอย่างไร เมื่อพนักงานหมด Passion ในการทำงาน, HREX.asia
- วิธีบริหาร Passion ของพนักงานในองค์กรยุคใหม่, Krungsri
- เมื่อพนักงานสูญเสีย Passion ในงาน: วิธีจุดประกายแรงบันดาลใจในที่ทำงานอีกครั้ง, Sakid
- วิธีเติม Passion ในการทำงานให้กับพนักงานยุคใหม่, HumanSoft
- หมด Passion ในการทำงาน ทำอย่างไรดี, Prosoft