“ความเชื่อใจ” รากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในองค์กร
ความเชื่อใจ (Trust) เป็นรากฐานสำคัญในทุก ๆ ความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือลูกค้า ซึ่งความรู้สึกนี้ต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างขึ้นมา เริ่มจากการทำความรู้จัก เรียนรู้ และปรับตัวเข้าหากัน จนเกิดเป็นภาวะปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ก่อนจะก่อตัวกลายเป็นความเชื่อใจและความไว้วางใจในที่สุด

“ความเชื่อใจ” รากฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในองค์กร
หลาย ๆ คนอาจจะมองว่า ความเชื่อใจ หรือ Trust มีความสำคัญต่อความสัมพันธ์ส่วนตัวเพียงเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว การทำงานร่วมกันเป็นทีมก็จำเป็นต้องมีความเชื่อใจและความไว้วางใจต่อเพื่อนร่วมทีมหรือองค์กรไม่ต่างกัน เพราะหากเราอยู่ร่วมกันโดยปราศจากความเชื่อใจและความไว้วางใจแล้ว ผลลัพธ์ของการทำงานย่อมออกมาไร้ประสิทธิภาพอย่างแน่นอน
“ความเชื่อใจ” คืออะไร ทำไมเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้
ความเชื่อใจ (Trust) เป็นรากฐานสำคัญในทุก ๆ ความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์แบบครอบครัว เพื่อน คนรัก เพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือลูกค้า ซึ่งความรู้สึกนี้ต้องอาศัยระยะเวลาในการสร้างขึ้นมา เริ่มจากการทำความรู้จัก เรียนรู้ และปรับตัวเข้าหากัน จนเกิดเป็นภาวะปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) ก่อนจะก่อตัวกลายเป็นความเชื่อใจและความไว้วางใจในที่สุด
ความเชื่อใจและความไว้วางใจ จะช่วยเสริมสร้าง “ความร่วมมือร่วมใจ” ของการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทำให้สบายใจในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมแบ่งปันข้อมูลที่มีประโยชน์ และเปิดใจรับฟัง Feedback เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาตนเอง ส่งผลให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้าง “ความสัมพันธ์ที่มั่นคง” ทั้งในเวลางานและนอกเวลางานอีกด้วย
ในขณะเดียวกัน หากสมาชิกภายในทีมหมดความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ก็จะเกิดปัญหาหลาย ๆ อย่างตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่เกิดความบาดหมางภายในใจ ขาดการสื่อสารระหว่างกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่เต็มใจทำงานร่วมกัน ไปจนถึงทำให้บรรยากาศภายในทีมเกิดความตึงเครียด ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพของการทำงานและผลงานอย่างแน่นอน

สาเหตุของการหมดความเชื่อความใจ
ความเชื่อใจและความไว้ใจไม่สามารถสร้างได้ภายในเวลาชั่วข้ามคืน แต่กลับพังทลายได้ภายในชั่วพริบตาและยากยิ่งกว่าหากจะสร้างความรู้สึกให้กลับมาเป็นดังเดิม “เพราะการรักษาย่อมง่ายกว่าการสร้างใหม่เสมอ” วันนี้ BASE Playhouse จะพาทุกคนไปดูว่า 3 สาเหตุหลักของการหมดความเชื่อใจเกิดจากอะไรบ้าง อย่าลืมจดแล้วจำ เพื่อระวังไม่ให้ทำผิดโดยไม่ตั้งใจ!
1. ไม่รักษาคำพูด
สาเหตุที่ทำให้คนหมดความเชื่อใจระหว่างกันมากที่สุด คือ การไม่รักษาคำพูด หรือไม่ทำตามสัญญา เพราะจะทำให้ฝ่ายที่ถูกผิดสัญญา เกิดความรู้สึกผิดหวังและหมดความเชื่อใจระหว่างกันและกัน ซึ่งเป็นการทำลายความสัมพันธ์อันดี
2. เลือกปฏิบัติ
การเลือกปฏิบัติ เป็นสาเหตุสำคัญของการ “ทำลาย” ความเชื่อใจระหว่างกันภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานกับเพื่อนร่วมงาน หรือลูกน้องกับหัวหน้า เพราะการให้ความสำคัญกับคนหนึ่ง แต่ละเลยความสำคัญของอีกคนหนึ่ง จะทำให้ฝ่ายที่ถูกละเลยเกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรม รู้สึกแย่ รู้สึกหมดคุณค่าในตัวเอง ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในองค์กรและกลายเป็นความรู้สึกหมดความเชื่อใจในที่สุด
3. ขาดความรับผิดชอบ
การขาดความรับผิดชอบ ในกรณีที่เกิดข้อผิดพลาดระหว่างการทำงานเกิดขึ้น แต่ไม่กล้ายอมรับความผิดพลาดของตัวเอง ปัดความรับผิดชอบให้เพื่อนร่วมงาน เมื่อไม่มีการจัดการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้ผ่านพ้นไปอย่างราบรื่น จะทำให้สูญเสียความเชื่อใจและความไว้ใจอย่างแน่นอน

กู้คืนความเชื่อใจได้ด้วย “BRAVING”
แล้วถ้าเกิดพลั้งพลาดทำลายความรู้สึกคนอื่นจนหมดความเชื่อใจโดยไม่ได้ตั้งใจต้องทำอย่างไร? ในบทความนี้ BASE Playhouse ขอนำเสนอวิธีการกู้คืนความเชื่อใจด้วยทฤษฎี BRAVING ของ “เบรเน บราวน์” นักวิจัยที่มีชื่อเสียงในด้านการศึกษาเกี่ยวกับความเปราะบาง ความอ่อนแอ ความกล้าหาญ และการสร้างความสัมพันธ์ของมนุษย์
ธรรมชาติของมนุษย์มักตัดสินคนอื่นจากสิ่งที่เห็น ดังนั้น หัวใจสำคัญของการกู้คืนความเชื่อใจคือ “การแสดงออก” อย่างจริงใจและอีโก้ (Ego) ของตัวเองลงมา การกู้คืนความเชื่อใจจึงจำเป็นที่จะต้องแสดงออกให้เห็นทั้งคำพูด น้ำเสียง ท่าทาง และการกระทำ
1. B: Boundaries
B ตัวแรกของทฤษฎี BRAVING คือ Boundaries หรือ ขอบเขต ซึ่งเป็นการกำหนดขอบเขตในความสัมพันธ์ระหว่างกันให้ชัดเจน เมื่อกำหนดขอบเขตของตนเองแล้วก็ควรเคารพขอบเขตของเพื่อนร่วมงานด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการ “ล้ำเส้น” ในทุก ๆ การกระทำ เป็นการสร้างความสบายใจและสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับการทำงานเป็นทีม
ตัวอย่างเช่น ในการทำงานร่วมกันเป็นทีม เมื่อแบ่งภาระหน้าที่หรือขอบเขตในการรับผิดชอบแล้ว ควรเคารพในการทำงานของทุก ๆ คน ไม่ควรเข้าไปจัดการงานของสมาชิกภายในทีมโดยไม่มีการพูดคุยกันก่อน เพราะถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติและล้ำเส้น ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานได้
2. R: Reliability
R ตัวที่สองของทฤษฎี BRAVING คือ Reliability หรือ ความน่าเชื่อถือ หมายถึง การทำตามสัญญาและรักษาคำพูด เพราะจะเพิ่มความไว้ใจและความมั่นใจของเพื่อนร่วมทีมที่มีต่อตัวเรา หากไม่สามารถทำตามสัญญาหรือคำพูดที่ให้ไว้ได้ ก็ควรแจ้งหรืออธิบายเหตุผลให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดหรือสูญเสียความไว้ใจ
ตัวอย่างเช่น หากสัญญาว่า “จะส่งงานให้เพื่อนร่วมทีมภายในวันพรุ่งนี้” ก็ควรส่งงานให้ทันตามกำหนด แต่หากไม่ทันก็ควรอธิบายเหตุผลอย่างชัดเจน เช่น เกิดเหตุฉุกเฉิน งานเยอะจนทำไม่ทัน เป็นต้น เพื่อจะรวบรวมความคิดเพื่อหาทางออกร่วมกันและรักษาความไว้ใจของเพื่อนร่วมทีมเอาไว้ได้
3. A: Accountability
A ตัวที่สามของทฤษฎี BRAVING คือ Accountability หรือ การรับผิดชอบ ซึ่งหมายถึง การรับผิดชอบในสิ่งที่เราทำ ยอมรับเมื่อเกิดข้อผิดพลาด และนำข้อบกพร่องจากสิ่งที่เกิดขึ้นมาเป็นบทเรียนเพื่อพัฒนาตนเองต่อไป การรับผิดชอบและกล้ายอมรับข้อผิดพลาดของตนเอง จะช่วยเสริมสร้างความไว้ใจให้กลับคืนมา
ตัวอย่างเช่น ในการทำโปรเจกต์หนึ่ง หากเราทำผิดพลาดในการวางแผนบางส่วนและส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินงานที่วางเอาไว้ ควรยอมรับอย่างตรงไปตรงมา “ผมคำนวณตัวเลขผิดพลาด ทำให้ผลลัพธ์ออกมาไม่ตรงตามที่คาดหวัง” และพยายามหาทางแก้ไขให้การทำงานสามารถไปต่อได้อย่างราบรื่นและผลลัพธ์ออกมาเสร็จสิ้นสมบูรณ์
4. V: Vault
V ตัวที่สี่ของทฤษฎี BRAVING คือ Vault หรือ การเก็บความลับ ซึ่งเป็นความสามารถในการเก็บรักษาข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนหรือเป็นความลับได้อย่างปลอดภัย ไม่นำเรื่องที่คนอื่นเล่าให้เราฟังไปพูดต่อ การเก็บความลับได้อย่างปลอดภัยจะช่วยเพิ่มความเชื่อใจและความไว้ใจต่อกัน ส่งผลให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย
ตัวอย่างเช่น หากสมาชิกภายในทีมมีการพูดถึงข้อมูลที่ละเอียดละอ่อน กลยุทธ์ทางธุรกิจ หรือแผนการพัฒนาในอนาคต การเก็บความลับไม่ให้รั่วไหลไปถึงบุคคลภายนอกหรือคู่แข่ง จะเพิ่มความเชื่อใจและความไว้ใจระหว่างสมาชิกภายในทีม ทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้โดยปราศจากความกังวล

5. I: Integrity
I ตัวที่ห้าของทฤษฎี BRAVING คือ Intergrity หรือ ความซื่อสัตย์ หมายถึง การทำสิ่งที่ถูกต้องแม้ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก การแสดงความซื่อสัตย์ในการกระทำและคำพูด จะช่วยให้เราได้รับความเคารพนับถือและความไว้วางใจจากเพื่อนร่วมทีม
ตัวอย่างเช่น การยึดมั่นในกฎระเบียบและปฏิบัติตามขั้นตอนของแผนการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด โดยไม่ข้ามขั้นตอนเพื่อลัดการทำงานให้เสร็จไวขึ้นแต่ไม่ได้ผลลัพธ์ตามมาตรฐาน สิ่งนี้นับเป็นความซื่อสัตย์ที่จะช่วยให้เราได้รับความเชื่อใจและความไว้ใจจากเพื่อนร่วมงานและหัวหน้า
6. N: Non - Judgment
N ตัวที่หกของทฤษฎี BRAVING คือ Non - Judgment หรือ การไม่ตัดสิน หมายถึง การไม่วิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นโดยมีอคติในทางที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงการเปิดใจรับฟังความรู้สึกหรือความคิดเห็นที่หลากหลายของเพื่อนร่วมงานโดยไม่ตัดสิน จะช่วยลดความขัดแย้งและสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างสมาชิกภายในทีม
ตัวอย่างเช่น เมื่อเพื่อนร่วมงานแสดงความเห็นหรือแลกเปลี่ยนไอเดียในการทำงาน ควรรับฟังจนจบอย่างตั้งใจโดยปราศจากอคติ ควรวางใจเป็นกลาง และไม่ตัดสินโดยใช้ความรู้สึกของตนเองเป็นหลัก
7. G: Generosity
G ตัวที่เจ็ดของทฤษฎี BRAVING คือ Generosity หรือ ความมีน้ำใจ ซึ่งหมายถึง การแสดงออกถึงความใส่ใจและความมีน้ำใจผ่านคำพูดและการกระทำกับทุก ๆ คนโดยไม่เลือกปฏิบัติ จะทำให้เพื่อนร่วมงานรู้สึกถึงความเอาใจใส่และค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเป็นความเชื่อใจและความไว้วางใจในการทำงานร่วมกัน
ตัวอย่างเช่น การแสดงความช่วยเหลือเมื่อเพื่อนร่วมงานกำลังเดือดร้อนอย่างจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว โดยไม่หวังผลอะไรตอบแทน
ความเชื่อใจ หรือ Trust เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งในทุก ๆ ความสัมพันธ์ โดยเฉพาะการทำงานร่วมกันภายในองค์กร เพราะเมื่อสมาชิกภายในทีมอยู่ในภาวะปลอดภัย จะทำให้เกิดความสบายใจและความไว้วางใจต่อกัน ผลลัพธ์ของการทำงานก็จะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นตามไปด้วย การรักษาภาวะปลอดภัยระหว่างกันจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม
หลักสูตรแนะนำ

Mastering Negotiation Tactics and Influencing Skills
กลยุทธ์การโน้มน้าวและจูงใจ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ทรงพลัง
หลักสูตรที่จะช่วยให้เห็นถึงความสำคัญในการใช้ทักษะการโน้มน้าว ตั้งแต่พื้นฐานว่าอะไรคือการโน้มน้าว แล้วทำไมต้องโน้มน้าว ตลอดจนเทคนิคต่าง ๆ ที่ช่วยพัฒนาชีวิตในการทำงานและชีวิตส่วนตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
คอร์สนี้เหมาะกับ
‘Mastering Negotiation Tactics and Influencing Skills’ เหมาะกับพนักงานระดับหัวหน้างาน
สิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับ
- The Foundation of Communication - รู้จักและเข้าใจความสำคัญของแต่ละปัจจัยการสื่อสาร (Sender/Message/Channel/Receiver)
- Art of Building Rapport - เข้าใจวิธีในการเข้าหาที่ต้องคำนึงถึง สไตล์ ของบุคคล และใช้เทคนิคที่เหมาะสมกับบุคคลนั้นๆการนำเสนอสไลด์ให้น่าสนใจ พร้อมทั้งการออกแบบ Visual ที่ช่วยให้สื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- Empathize Customer - เข้าใจวิธีการวิเคราะห์สไตล์ในการตัดสินใจของตนเองและเพื่อนร่วมทีมหรือหัวหน้างานทั้ง 3 สไตล์ได้ และมีวิธีในการเข้าหาที่เหมาะสมกับสไตล์นั้นๆ
รายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติม > อ่านที่นี่
ติดต่อปรึกษา BASE Playhouse ฟรี! โทร 094-191-4626 หรือกรอกข้อมูลเพื่อติดต่อกลับ ที่นี่
อ้างอิงจาก
ความเชื่อใจ คุณสมบัติสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทุกความสัมพันธ์ให้ก้าวไกล, SPACEBAR
ทำอย่างไรให้คนอื่น ‘ไว้ใจ’, HREX