ถอดบทเรียนการเป็นผู้นำจาก “ณัฐวุฒิ เกียรติไชยากร” Chief Business Resources ของ Siam Piwat
วัฒนธรรมองค์กรของ Siam Piwat ถูกกำหนดให้เป็นวัฒนธรรมแห่งการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง คนที่นี่ทำงานคนเดียวไม่เสร็จ เพราะ “ถ้าคิดการใหญ่ ต้องทำด้วยกัน จึงจะสำเร็จ”

ถอดบทเรียนการเป็นผู้นำจาก “ณัฐวุฒิ เกียรติไชยากร” Chief Business Resources ของ Siam Piwat
ย้อนวัยเด็ก
ย้อนกลับไปเมื่อสมัยวัยเด็ก “คุณวุฒิ” เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ เป็นเด็กที่อยู่ในกรอบ ชีวิตเรียบง่ายไม่หวือหวา ได้รับอิทธิพลด้าน “การเป็นผู้นำ” มาจากคุณพ่อ เนื่องจากคุณพ่อได้รับบทบาทหน้าที่ในการเป็นผู้นำชุมชน ทั้งระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด และระดับประเทศ สิ่งเหล่านี้จึงซึมซับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตัวตนโดยที่ไม่รู้ตัว

การเป็นผู้นำครั้งแรก
“หัวหน้าห้อง” คือ บทบาทการเป็นผู้นำครั้งแรกของคุณวุฒิ ในยุคสมัยนั้น หน้าที่ของหัวหน้าห้องส่วนใหญ่มีเพียงการจดชื่อคนคุยและจดชื่อเวรทำความสะอาดเท่านั้น แต่เมื่อพูดถึงการเป็นผู้นำจะมีบางสิ่งแตกต่างออกไป
เมื่ออยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 คุณวุฒิได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องและต้องรับผิดชอบหน้าที่ในการทำหนังสือรุ่น โดยต้องรวบรวมเพื่อนกว่า 60 คน เพื่อมาถ่ายรูปร่วมกัน แต่เพื่อน ๆ ก็มาบ้างไม่มาบ้าง จนถึงจุดที่ต้องลุกขึ้นเดินไปที่หน้าห้องเรียนและไหว้ขอร้องเพื่อน ๆ ความรู้สึก ณ ขณะนั้นคิดเพียงว่าอยากได้ใจและความร่วมมือจริง ๆ เรื่องราวนี้เป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิดว่า “ถ้าเราทำเหมือนเดิม ใช้วิธีการเหมือนเดิม ก็จะได้ผลลัพธ์แบบเดิม แต่ถ้าเรายอมลดอัตตาของตนเองลงเพื่อซื้อใจคน ก็จะได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไป”
สิ่งต่าง ๆ ที่คุณวุฒิได้รับประสบการณ์ค่อย ๆ ซึมซับและตกผลึกเป็นความคิดว่า “หัวหน้าและผู้นำมีความแตกต่างกัน” หัวหน้าที่ดีต้องมีอำนาจในการสั่งการได้และสามารถฟีดแบคให้ลูกน้องได้ แต่หลาย ๆ ครั้งพบประสบการณ์จากคนที่เป็นลูกน้องว่า “เราได้งาน แต่เขารู้สึกเหมือนถูกลดคุณค่า”
หนึ่งเหตุการณ์ที่ทำให้คุณวุฒิได้เรียนรู้เกี่ยวกับคำว่าผู้นำ คือ ลูกทีมเขียนงานชิ้นหนึ่งออกมาเกือบ 100 หน้า เพื่อส่งงานลูกค้า คุณวุฒิได้แก้ไขงานชิ้นนั้นเกือบทุกบรรทัดด้วยความมุ่งมั่นว่าต้องส่งงานที่ได้ Quality และ Perfect ให้กับลูกค้า โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมา ลูกทีมได้รับฟีดแบคกลับไปก็รู้สึกเฟล รู้สึกว่าตนเองไม่ได้เรื่อง ไม่มีความสามารถ และรู้สึกถูกลดคุณค่า ณ เวลานั้น คุณวุฒิยังรู้สึกว่า ในฐานะที่เราเป็นหัวหน้าทีม เรามีสิทธิ์ที่จะแก้ไขงานให้ออกมาดี ทำไมต้องมี Emotional แต่เมื่อเวลาผ่านไป เริ่มโตขึ้นและได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากขึ้น เหตุการณ์นี้ได้ย้อนกลับมาเป็นบทเรียนในชีวิตว่า “ทุกครั้งที่จะแก้งานหรือทำอะไร เราต้องนึกถึงใจคนรอบข้างตลอด”
บาดแผลของการเป็นผู้นำที่ไม่ลืม
คุณวุฒิได้รับมอบหมายให้ทำ “โครงการรู้คิดดูทำ” เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาผู้บริหารลำดับสูงของภาครัฐ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัดไปจนถึงกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งเป็นงานที่มีสเกลค่อนข้างใหญ่และไม่มีใครอยากทำ คุณวุฒิจึงต้องใช้ทักษะในการโน้มน้าวใจเพื่อให้ทุกคนเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการทำโครงการ
คุณวุฒิเชื่อว่า “Passion” และ “Commitment” คือ สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงาน ไม่ว่าจะพบเจอปัญหาหรืออุปสรรคอะไร ไม่ว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เมื่อคนอื่นเห็นเราลงมือทำ คนอื่นก็จะได้รับแรงบันดาลใจและอิทธิพลจากเรา ส่งผลให้เขาก้าวเข้ามาร่วมทำงานกับเราด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้คุณวุฒิตกตะกอนความคิดได้ว่า “Leadership สำหรับตนเองคืออะไร?”
วิธีการที่คุณวุฒิใช้เพื่อซื้อใจให้คนอื่นอยากเข้ามาร่วมทำโปรเจกต์ คือ Stakeholder Management โดยต้องคำนึงถึงใจของบุคคลรอบข้างเป็นอันดับแรก ถ้าอยากชนะใจเขาให้เขายอมมาทำงานกับเรา ต้อง “สื่อสารอย่างเข้าใจ” ต้องเริ่มจากการอธิบายที่มาที่ไปของโครงการว่าโครงการนี้คืออะไร ทำไมเราถึงต้องรับผิดชอบ หน้าที่ของแต่ละคนคืออะไร เราจะส่งต่องานกันยังไง หรือเรียกง่าย ๆ ว่า อธิบายขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพอย่างชัดเจนและคลายความกังวลใจ นอกจากนี้ยังสอดแทรกคุณค่าที่จะได้รับจากการทำงานเข้าไปอีกด้วย เช่น โครงการนี้เป็นโครงการที่มาจากภาษีของประชาชน “หากภาครัฐไม่มี Leadership ที่ดี ไม่มีองค์ความรู้ที่ดี เขาจะขับเคลื่อนประเทศต่อไปได้ยังไง นี่เป็นโอกาสดีที่เราทั้ง 15 คนจะมาช่วยกัน” เมื่อทุกคนเห็นภาพชัดเจน คลายความกังวล รู้คุณค่าของสิ่งที่จะได้รับ “ความจริงใจของผู้นำ” จะช่วยสร้างความไว้วางใจให้ทุกคนมีใจในการทำงานและพร้อมเดินไปด้วยกัน
อีกสิ่งหนึ่งที่คุณวุฒิได้เรียนรู้ระหว่างการทำโปรเจกต์นี้ คือ ระหว่างทางในการทำงานที่เจอปัญหาและอุปสรรค บางครั้งคนเป็นผู้นำก็ไม่มีคำตอบ แต่สิ่งสำคัญ คือ คนเป็นผู้นำต้องสามารถ “Leading Yourself” ใช้ประสบการณ์รวมกับสิ่งที่ตนเองรู้ทั้งหมด เพื่อชี้นำแนวทางให้งานสามารถเดินหน้าต่อไปได้

การเดินทางครั้งใหม่ที่ทำให้เข้าใจ “หัวใจของมนุษย์”
จุดเริ่มต้นของสายงาน HR เกิดจากการ Burnout จากสายงาน Consult เพราะใช้ร่างกายหนักจนร่างกายเริ่มไม่ไหว แม้จะรักงานมากแต่คงไปต่อลำบาก และอีกหนึ่งเหตุผลซึ่งเป็นจุด Turning Point คือ มีคนถามคุณวุฒิว่า “อาจารย์สอนเข้าใจ สอนดีมากเลย อาจารย์เคยมีลูกน้องไหม?” หลังจากได้ยินคำถามนี้ก็คิดได้ว่า ตนเองสอนเรื่อง Leadership มา 7 - 8 ปี แต่ไม่เคยมีลูกน้อง มันก็แปลก ๆ ดี จึงเป็นสิ่งที่คาใจอยู่ตลอดว่าเรายังไม่เคยเป็นหัวหน้าคนแบบจริงจังเลย จึงตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางเข้าสู่ Corporate ในสายงาน HR
คุณวุฒิเป็น L&D Manager ที่บริษัท DKSH อยู่ประมาณ 2 ปี ก่อนจะย้ายมาทำงานที่ True Corporation อยู่ประมาณ 4 - 5 ปี จนกระทั่งปัจจุบัน ทำงานเป็น Chief Business Resources อยู่ที่ Siam Piwat
คุณวุฒิเล่าเพิ่มเติมว่า ในหลักสูตรที่สอน เราสร้าง Learning Environment ว่าถ้าคุณใช้เครื่องมือ Leadership ของเราแล้วทุกอย่างมันจะดี แม้เครื่องมือที่เราสอนมี 108 วิธีที่จะประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์จริง เจอมนุษย์จริง ๆ ทำให้เข้าใจว่าการเป็นผู้นำไม่ง่าย เพราะ “ผู้นำต้องเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์” และค้นพบว่าการเป็นผู้นำไม่ใช่หลักวิทยาศาสตร์ที่มีสูตรตายตัว แต่ “การเป็นผู้นำ คือ ศิลปะในการบริหารหัวใจของมนุษย์”
จุดเริ่มต้นใน Siam Piwat
“Lead with Passion” คือแนวคิดของการบริหาร Siam Piwat ที่สามารถซื้อใจคุณวุฒิได้สำเร็จ เริ่มแรกในการทำงานที่ Siam Piwat คุณวุฒิต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ ทั้งปรับตัวให้เข้ากับธุรกิจ ปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนผู้บริหารด้วยกัน ปรับตัวให้เข้ากับสไตล์การทำงาน รวมถึงปรับตัวให้เข้ากับทีมงาน เพราะคุณวุฒิเป็นคนที่มาใหม่ ดังนั้น ต้องใช้เวลาเพื่อที่ซื้อใจทุกคนให้สามารถเข้าใจและทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี คุณวุฒิใช้เวลาเกือบ 1 ปี กว่าที่จะสามารถ Connect กับสมาชิกภายในทีมอย่างแนบแน่นและรู้ใจกันว่าเรากำลังจะทำอะไร กำลังจะไปไหน โดยวิธีการซื้อใจสมาชิกภายในทีม ได้แก่ การพูดให้เยอะและเป็นตัวตนที่แท้จริงของตนเอง
“การพูดให้เยอะ” หมายถึง การสื่อสารให้เยอะ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในองค์กรหรือไปรับรู้อะไรมาที่เป็น Non-confidential หน้าที่ของผู้นำคือต้องให้สมาชิกภายในทีมรู้เท่ากัน ชัดเจน และไม่มีอะไรปิดบัง เป็นการถ่ายทอดความรู้สึกการเป็นเจ้าของงานให้กับสมาชิกภายในทีมทุกคน จะช่วยให้ทุกคนรู้สึกว่า “นี่คืองานของทีม”
“การเป็นตัวของตัวเอง” หมายถึง การเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุดและแสดงความจริงใจ เพื่อให้สมาชิกภายในทีมยอมรับและศรัทธาในตัวตนของเราอย่างแท้จริงไม่ใช่เงาของใคร รวมถึงเป็นการสร้างภาวะความปลอดภัยทางใจให้กับทีม ทำให้เห็นว่าเราเป็นหนึ่งในสมาชิกของทีมจริง ๆ จะช่วยให้บรรยากาศในการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ปรัชญาแห่งการบริหารองค์กร
วัฒนธรรมองค์กรของ Siam Piwat ถูกกำหนดให้เป็นวัฒนธรรมแห่งการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง คนที่นี่ทำงานคนเดียวไม่เสร็จ เพราะ “ถ้าคิดการใหญ่ ต้องทำด้วยกัน จึงจะสำเร็จ” นี่คือโจทย์ที่คุณวุฒิใช้เวลาเกือบ ๆ 1 ปี ในการพูดซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ กับสมาชิกภายในทีม ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญเมื่ออยู่ในทีมเสมอ ความขัดแย้งสามารถเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วต้องหาทางแก้ปัญหาและจับมือกันเดินต่อไป เพื่อพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดขึ้นและเป็นจริงขึ้นมาได้
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------