DO & DON’T พัฒนาตัวเองอย่างไรให้กลายเป็น “ดาวเด่น” ขององค์กร
ใคร ๆ ก็อยากเป็นคนที่เก่งขึ้น โดยเฉพาะกับยุคสมัยที่การแข่งขันในตลาดแรงงานดุเดือดเช่นนี้ “การพัฒนาตัวเอง” จึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยยกระดับจากคนธรรมดาให้กลายเป็น “ดาวเด่น” ในองค์กร ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ใคร ๆ ก็ต้องการ

DO & DON’T พัฒนาตัวเองอย่างไรให้กลายเป็น “ดาวเด่น” ขององค์กร
ใคร ๆ ก็อยากเป็นคนที่เก่งขึ้น โดยเฉพาะกับยุคสมัยที่การแข่งขันในตลาดแรงงานดุเดือดเช่นนี้ “การพัฒนาตัวเอง” จึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยยกระดับจากคนธรรมดาให้กลายเป็น “ดาวเด่น” ในองค์กร ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหน ใคร ๆ ก็ต้องการ
แล้วเราจะพัฒนาตัวเองด้านไหนดี? แล้วมีวิธีการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร? ในบทความนี้ BASE Playhouse มีคำตอบมาฝากทุกคน รับรองว่าถ้าอ่านจบแล้วนำไปใช้ ทุกคนสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้ภายใน 30 วันอย่างแน่นอน ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว ไปอ่านกันได้เลย!
3 ทักษะสำคัญแห่งศตวรรษที่ 21
1. ทักษะคิดอย่างสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
ทักษะสำคัญสำหรับคำถาม “พัฒนาตัวเองด้านไหนดี?” ทักษะแรก คือ ทักษะคิดอย่างสร้างสรรค์ หรือ Creative Thinking เพราะเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถจินตนาการและคิดค้นนวัตกรรมหรือโซลูชันใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างทันท่วงที แถมไอเดียนั้นยังมีความแปลกใหม่ น่าสนใจ ไม่จำเจ รวมถึงเป็นทักษะที่ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการคิดวิเคราะห์และการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปโดยไม่คาดคิด ด้วยเหตุนี้ ทักษะคิดอย่างสร้างสรรค์จึงกลายเป็นทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และเป็นทักษะพื้นฐานที่ควรมีติดตัว รับรองว่าองค์กรไหน ๆ ก็ต้องการคนที่มีทักษะคิดอย่างสร้างสรรค์แน่นอน
2. ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving)
ทักษะสำคัญสำหรับคำถาม “พัฒนาตัวเองด้านไหนดี?” ทักษะที่สอง คือ ทักษะการแก้ปัญหา หรือ Problem Solving หลาย ๆ คนอาจจะคิดว่า “ฉันไม่ใช่หัวหน้า ทำไมต้องมีทักษะการแก้ปัญหาด้วยล่ะ?” แต่จริง ๆ แล้วการทำงานภายในองค์กร ไม่ใช่หัวหน้าเพียงคนเดียวที่ต้องรับหน้าที่ในการแก้ปัญหา เพราะคนที่เป็นสมาชิกภายในทีมก็ต้องแก้ปัญหา (ของตัวเอง) เช่นกัน ดังนั้น ทักษะการแก้ปัญหาจึงเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นแห่งศตวรรษที่ 21
ปัญหา อุปสรรค และความท้าทาย เป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในการทำงาน คนที่มีทักษะการแก้ปัญหาที่ดีจะมีความกล้าในการเผชิญหน้ากับสิ่งต่าง ๆ เหล่านั้น ประเมินสถานการณ์ได้อย่างละเอียดรอบคอบ พร้อมลุยไปข้างหน้าโดยปราศจากความลังเล รวมถึงกล้าตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ส่งผลให้สามารถนำพาองค์กรก้าวข้ามผ่านสถานการณ์ยาก ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ทักษะการวางแผนกลยุทธ์ (Strategic Planning)
ทักษะสำคัญสำหรับคำถาม “พัฒนาตัวเองด้านไหนดี?” ทักษะสุดท้าย คือ ทักษะการวางแผนกลยุทธ์ หรือ Strategic Planning เป็นทักษะที่มีความสำคัญมากสำหรับศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นทักษะที่ทำให้การทำงานภายในองค์กรมีเป้าหมายและทิศทางอย่างชัดเจน สมาชิกภายในทีมสามารถมองเห็นเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวของทีมหรือองค์กรได้ตรงกัน รวมถึงกำหนดแผนการทำงานที่จะช่วยให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
คนที่มีทักษะการวางแผนกลยุทธ์มักจะสามารถวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถวางแผนการทำงานได้อย่างรอบคอบ จัดสรรทรัพยากรได้เหมาะสมกับการทำงาน ลดการสูญเสียทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ และช่วยผลักดันองค์กรไปสู่เป้าหมายได้อย่างมั่นคง

DO & DON’T พัฒนาตัวเองอย่างไรให้ “เป็นคนใหม่” ภายใน 30 วัน
DO ✅
1. ตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน
สิ่งที่ควรทำข้อแรกสำหรับการพัฒนาตัวเอง คือ การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจน เพราะ “เป้าหมายเปรียบเสมือนเข็มทิศ” หากเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนก็จะทำให้เราสามารถพัฒนาตัวเองไปในทิศทางที่ถูกต้องและเหมาะสม โดยการตั้งเป้าหมายต้องมีความชัดเจนทั้งรายละเอียดและระยะเวลา สามารถเป็นไปได้ และสามารถวัดผลได้จริง เพื่อให้ไม่เกิดความรู้สึกเหนื่อยล้าหมดกำลังใจจนถอดใจเลิกพัฒนาตัวเองไปเสียก่อน
การตั้งเป้าหมายที่ดีควรเริ่มจากการตั้งเป้าหมายระยะสั้นหรือเป้าหมายที่ใช้ระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน เพื่อสร้างแรงบันดาลใจความรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อบรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ รวมถึงสร้างความตื่นเต้นและแรงกระตุ้นในการพิชิตเป้าหมายอื่น ๆ ต่อไป จากนั้นค่อย ๆ ขยับเป็นการตั้งเป้าหมายระยะยาวหรือเป้าหมายที่ใช้ระยะเวลามากกว่า 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งเป็นเป้าหมายที่มีความยากและความท้าทายสูง แต่หากมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตัวเองมากพอก็จะสามารถบรรลุอุปสรรคที่แสนยากลำบาก แล้วกลายเป็นคนที่เก่งขึ้นได้อย่างแน่นอน
ตัวอย่างเช่น ฝึกฝนทักษะคิดอย่างสร้างสรรค์โดยการอ่านหนังสือหลาย ๆ หมวดหมู่เพื่อเปิดโลกจินตนาการเดือนละ 2 เล่ม
2. มองหาจุดแข็งของตัวเอง
สิ่งที่ควรทำข้อที่สองสำหรับการพัฒนาตัวเอง คือ การมองหาจุดแข็งของตัวเอง เพราะการมองเห็นและรู้จัก “จุดแข็ง” ของตัวเอง จะทำให้เราสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างตรงจุด ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราทำได้ดี เนื่องจากเป็นการเพิ่มความมั่นใจในตัวเองให้มากขึ้น กล้าตัดสินใจทำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่เกิดความลังเลหรือวิตกกังวล รวมถึงนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานให้ผลลัพธ์ออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ การรู้จัก “จุดอ่อน” ของตัวเองก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะสามารถนำข้อบกพร่องตรงส่วนนั้นมาพัฒนาให้กลายเป็นจุดเด่น ส่งเสริมให้ตัวเองมีความแข็งแกร่งและโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น มองหาจุดแข็งของตัวเองจากการทบทวนเรื่องราวและประสบการณ์ที่ผ่าน ๆ มาในชีวิตหรือสอบถามจากคนรอบ ๆ ตัว
3. เรียนรู้จากความผิดพลาด
สิ่งที่ควรทำข้อสุดท้ายสำหรับการพัฒนาตัวเอง คือ การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเอง เพราะข้อผิดพลาดไม่ใช่สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง แต่เป็นสิ่งที่ควรเผชิญหน้าและเป็นหนึ่งในโอกาสที่ทำให้เราเติบโตเป็นคนที่ดีกว่าเดิม โดยก่อนที่เราจะเรียนรู้ข้อผิดพลาดของตัวเองได้ เราต้องมีความ “กล้า” เป็นอันดับแรก ไม่ว่าจะเป็นการกล้าเผชิญหน้ากับความท้าทาย การกล้ายอมรับความจริง หรือการกล้ารับฟังฟีดแบ็กจากคนรอบ ๆ ตัว ซึ่งเหล่านี้จะทำให้เรามองเห็น “จุดบกพร่อง” ของตัวเองที่เราละเลยไปและนำกลับมาพัฒนาตัวเองให้สมบูรณ์มากขึ้นได้
นอกจากนี้ การเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีประสบการณ์ในด้านนั้น ๆ ก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ทำให้เราสามารถพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งวิธีนี้สามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น การสัมมนา การเรียนรู้ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ การอ่านบทความ การฟังพอดแคสต์ (Podcast) เป็นต้น
ตัวอย่างเช่น เมื่อการทำงานเป็นทีมเกิดข้อผิดพลาดในการสื่อสารไม่ชัดเจน จนทำให้สมาชิกภายในทีมเข้าใจไม่ตรงกัน เราก็จะหาวิธีแก้ปัญหาเรื่องการสื่อสารเมื่อทำงานครั้งถัดไป เช่น ต้องมีคนจดบันทึกเพื่อสรุปการประชุมทุกครั้ง การแชร์เอกสารและข้อมูลการทำงานอยู่เสมอ เป็นต้น

DON’T ❎
1. มองโลกในแง่ลบ
สิ่งที่ไม่ควรทำข้อแรกสำหรับการพัฒนาตัวเอง คือ การมองโลกในแง่ลบ เพราะการมองโลกในแง่ลบจะทำให้เราเกิดความรู้สึกท้อแท้ใจ หมดกำลังใจในการลองทำสิ่งใหม่ ๆ หรืออยากเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็ไม่เห็นอนาคตหรือเส้นทางที่จะพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นคนที่เก่งขึ้นได้ แค่คิดก็รู้สึกหดหู่เสียแล้วสิ
นอกจากนี้ การมองโลกในแง่ลบยังทำให้ขาดความมั่นใจ เพิ่มความเครียดและความวิตกกังวล รวมถึงกลัวการเปลี่ยนแปลงจนเผลอปิดกั้นโอกาสดี ๆ ที่เข้ามาในชีวิต จนสุดท้ายก็พลาดโอกาสในการพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น
ตัวอย่างเช่น การคิดว่าตัวเองไม่เก่งหรือคิดย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ ว่า “ฉันไม่มีทางทำได้” ไม่ว่าจะมีโอกาสอะไรเข้ามาในชีวิตก็เอาแต่ปฏิเสธก่อนจะลองทำจริง ๆ
2. จมอยู่กับความผิดพลาด
สิ่งที่ไม่ควรทำข้อที่สองสำหรับการพัฒนาตัวเอง คือ การจมอยู่กับความผิดพลาด ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่หลาย ๆ คนเป็นโดยไม่รู้ตัว การจมอยู่กับความผิดพลาดในอดีต เปรียบเสมือนก้อนหินก้อนใหญ่ที่จะถ่วงชีวิตของเราไม่ให้พัฒนาตัวเองไปข้างหน้าหรือพัฒนาตัวเองได้ช้าลง เนื่องจากคนที่จมอยู่กับความผิดพลาดมักจะเอาแต่คิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นข้อผิดพลาด เป็นเพราะตัวเองดีไม่พอ หรือเป็นความล้มเหลวของชีวิต จนทำให้สูญเสียความมั่นใจในตัวเองและหมดกำลังใจในการพัฒนาตัวเอง ทั้ง ๆ ที่เรื่องนั้นอาจจะเป็นเพียงเรื่องเล็ก ๆ ที่เป็นบทเรียนให้แก่ชีวิตได้
ตัวอย่างเช่น หากทำ Project แล้วเกิดข้อผิดพลาดบางอย่าง การเอาแต่คิดว่า “ฉันตัดสินใจผิดพลาด” หรือ “ฉันเก่งไม่พอ” จะทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ หมดความมั่นใจในการทำงาน จนบางครั้งเกิดความรู้สึกหมดไฟ (Burnout) กับงานที่กำลังทำอยู่
3. ไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ
สิ่งที่ไม่ควรทำข้อสุดท้ายสำหรับการพัฒนาตัวเอง คือ การไม่เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ หรือการเป็นคนที่ขาดความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดสำหรับการพัฒนาตัวเอง เนื่องจากในปัจจุบัน โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ความคิด มนุษย์ การทำงาน หรือสังคม หากยังยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ จนไม่กล้าเปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ รับรองได้ว่าคุณจะพลาดหลาย ๆ โอกาสในชีวิตไปอย่างแน่นอน
ตัวอย่างเช่น การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่ยาก เพราะเป็นคนชอบทำงานคนเดียวและไม่อยากปรับตัวเข้าหาคนอื่น จึงเลือกทำงานที่ไม่ต้องยุ่งวุ่นวายกับคนอื่น แต่ไม่เติบโต
การพัฒนาตัวเองให้กลายเป็น “ดาวเด่น” ขององค์กรไม่ใช่เรื่องง่ายจนสามารถเกิดขึ้นได้ภายในชั่วข้ามคืน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถและศักยภาพของมนุษย์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “การมองโลกในแง่บวก” คิดกับตัวเองอยู่เสมอว่าไม่มีอะไรที่ไม่สามารถทำได้ กล้าเผชิญหน้ากับทุกความท้าทายและการเปลี่ยนแปลง เพียงเท่านี้คุณก็สามารถเป็น “คุณในเวอร์ชันที่ดีกว่าเดิม” ได้
อ้างอิงจาก
10 แนวทางการพัฒนาตนเองให้เป็นคนใหม่ พร้อมวิธีปรับแนวคิด, AP
หลักสูตรแนะนำ

Design Thinking for Creating Innovation
ในยุคที่เทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นเรื่อย ๆ การนำทักษะการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) มาประยุกต์ใช้ในการขับเคลื่อนธุรกิจ และใช้ในการแก้ไขปัญหาและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสร้างให้องค์กรสามารถปรับตัวได้อย่างคล่องตัว ผ่านการคิด และออกแบบนวัตกรรมใหม่ ๆ
คอร์สนี้เหมาะกับ
'Design Thinking for Creating Innovation' เหมาะสำหรับบุคลากรในระดับผู้จัดการ และผู้บริหารที่ต้องการพัฒนาทักษะความคิดเชิงออกแบบอย่างสร้างสรรค์
สิ่งที่ผู้เรียนจะได้รับ
- ได้รับมุมมองที่หลากหลาย - เริ่มจากความเข้าใจกระบวนการคิด ทำให้เกิดขึ้นได้จริง ประยุกต์ใช้เป็น เเละนำไปใช้กับทีมทำงานได้ เข้าใจลักษณะของแต่ละขั้นตอนที่แตกต่างกัน ที่จะทำให้ผู้เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทขององค์กรหรือของการทำงานที่แตกต่างกันได้
- ได้รับทักษะขั้นสูงของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ - เพื่อทำให้ผู้เรียนมีทางเลือกในการหยิบทักษะแต่ละตัวไปใช้ และทำให้ผู้เรียนสามารถออกแบบวิธีการแก้ปัญหาได้ เมื่อเจอเคสในการสร้างนวัตกรรมจริงในองค์กร ที่ละเอียดและซับซ้อน พร้อมทั้งสามารถนำทักษะขั้นสูงไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- มองภาพรวมที่ใหญ่กว่า - วิธีการการแก้ปัญหาที่ดี นอกจากจะต้องตอบโจทย์และแก้ปัญหาให้กับมนุษย์ได้ ยังต้องสามารถต่อยอดเพื่อทำให้มันสามารถสร้างได้จริง และสามารถยั่งยืน (Sustain) ในมุมของธุรกิจได้ เพื่อทำให้ไอเดียหรือกระบวนการคิดที่ได้จากกระบวนการนี้ สามารถต่อยอดไปเป็นนวัตกรรมจริงในองค์กร
รายละเอียดหลักสูตรเพิ่มเติม > อ่านที่นี่
ติดต่อปรึกษา BASE Playhouse ฟรี! โทร 094-191-4626 หรือกรอกข้อมูลเพื่อติดต่อกลับ ที่นี่