Design Thinking

Design Thinking คืออะไร ช่วยพัฒนาองค์กรได้จริงไหม?

ข้อดีของ Design Thinking ไม่ได้มีแค่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ยังช่วยขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จได้ แล้ว Design Thinking คืออะไร และนำไปปรับใช้ได้อย่างไร

September 24, 2024
·
0
mins
Peesadech Pechnoi (Mac)
ภีศเดช เพชรน้อย
Design Thinking คืออะไร ช่วยพัฒนาองค์กรได้จริงไหม?

Design Thinking คืออะไร นำมาปรับใช้กับองค์กรได้อย่างไร?

“Design Thinking” กำลังเป็นแนวคิดที่สนใจขององค์กรยุคใหม่หลายองค์กร แต่เมื่อถามว่า “Design Thinking คืออะไร” ใครหลายคนคงนึกถึงกระบวนการออกแบบงานศิลปะ ผลิตภัณฑ์ในวงการเทค หรือ แม้แต่งานออกแบบภาพศิลปะที่ใช้โพสต์ลงโซเชียลมีเดีย 

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว Design Thinking ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การออกแบบผลิตภัณฑ์ หรือ งานศิลปะเพียงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึง “หลักการคิด” ที่องค์กรสามารถนำมาปรับใช้เพื่อสร้างความสำเร็จได้เช่นกัน

แต่ถ้าหากไม่ใช่งานศิลปะ หรือ ออกแบบผลิตภัณฑ์ แล้ว Design Thinking คืออะไร จะถูกนำมาปรับใช้เพื่อได้อย่างไร และจะสามารถช่วยพัฒนาองค์กรในจริงหรือไม่ ในบทความนี้ BASE Playhouse จะพาไปหาคำตอบเอง

Design Thinking คืออะไร?

Design Thinking คือ กระบวนการคิดเชิงออกแบบที่จะทำความเข้าใจและแก้ไขปัญหาโดยยึดที่ “มนุษย์” หรือ “ผู้บริโภค” เป็นหลัก หรือ เรียกอีกอย่างว่าเป็น Human-Centered หรือ User-Centered Approach นั่นเอง

จุดเด่นของ Design Thinking หรือ การคิดเชิงออกแบบ คือ การหาโซลูชันที่มีประสิทธิภาพที่สุดผ่านการตั้งคำถามที่ตรงจุด พร้อมมองหาแนวคิด วิธี หรือ แนวทางการแก้ไขปัญหาใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่มีตอบโจทย์ สอดคล้องกับความต้องการ และเป็นรูปธรรมมากที่สุด

ในปัจจุบันนี้ แนวคิดแบบ Design Thinking ได้ถูกนำมาปรับใช้ในการสร้างสรรค์หลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาให้กับผู้บริโภคอย่างตรงจุด ไปจนถึงการออกแบบแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ ไปจนถึงแนวทางการทำงานอื่นๆ ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งาน ซึ่งเป็น “มนุษย์” อย่างเราๆ 

แม้จะไม่มีแหล่งที่มาแน่ชัดว่าแนวคิดเรื่อง Design Thinking เกิดขึ้นตอนไหน แต่แนวคิดดังกล่าวนี้ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจาก Herbert A. Simon ที่ระบุว่า “design as a way of thinking” ในหนังสือ The Sciences of the Artificial (1969) ไปจนถึง David Kelley ผู้ก่อตั้ง IDEO ที่หลายคนให้การยอมรับ รวมถึงหนึ่งในโมเดล Design Thinking ที่ได้รับความนิยมสูงสุดอย่าง Hasso Plattner Institute of Design จาก Stanford University นั่นเอง

“Design Thinking” กับ “การพัฒนาองค์กร” เรื่องนี้เกี่ยวกันอย่างไร?

การพัฒนาองค์กรที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยการวางแผนที่เหมาะสม ทั้งยังต้องสัมพันธ์กับความต้องการของมนุษย์ หรือก็คือพนักงานที่ทำงานอยู่ในองค์กรทุกระดับ

ดังนั้น เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของมนุษย์ที่ทำงานอยู่ในองค์กร การนำ Design Thinking เข้ามาปรับใช้จึงสามารถช่วยให้องค์กรสามารถมองหาปัญหา วิเคราะห์ถึงเหตุและผล วางแนวทางการแก้ไข เพื่อช่วยพัฒนาองค์กรให้เติบโต ไปพร้อมกับเพิ่มความสุขและประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานไปในเวลาเดียวกัน 

ในปัจจุบันนี้ มีองค์กรระดับโลกมากมายได้เริ่มหันมาใช้ Design Thinking เพื่อช่วยขับเคลื่อนองค์กร พร้อมสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับพนักงานได้ ไม่ว่าจะเป็น Google, Apple หรือแม้แต่ Airbnb เองก็ได้นำ Design Thinking มาปรับใช้ทั้งในการพัฒนาองค์กร พร้อมสร้างผลิตภัณฑ์และบริการ จนนำไปสู่ความสำเร็จรอบด้านให้กับองค์กรได้

Design Thinking Process คืออะไร?

เมื่ออ่านมาถึงจุดนี้ เชื่อว่าหลายๆ คนคงเริ่มมองเห็นภาพแล้วว่า Design Thinking คืออะไร และแนวคิดนี้สามารถช่วยพัฒนาองค์กรได้อย่างไร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เชื่อว่าก็ยังมีอีกหลายคนที่สงสัยเหมือนกันว่า แล้วองค์กรจะสามารถนำ Design Thinking มาปรับใช้ได้ในแง่มุมไหนบ้าง

คำตอบ คือ องค์กรสามารถปรับใช้ Design Thinking ในการพัฒนาองค์กร ผ่านการใช้ Design Thinking Process ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะช่วยให้เข้าใจปัญหา มองเห็นทางแก้ พร้อมสร้างแนวทางการพัฒนาและปรับใช้ที่เหมาะสมต่อไป

Design Thinking Process ในปัจจุบันที่ได้รับความนิยมสูงสุด จะเป็นโมเดล 5 กระบวนการคิด Design Thinking ของ Hasso Plattner Institute of Design จาก Stanford University ซึ่งเป็นโมเดลหลักที่งานสายเทคอย่าง UX/UI Designer นำมาปรับใช้ในการดีไซน์ User Interface และ User Experience บนผลิตภัณฑ์อย่างแอปพลิเคชัน เว็บไซต์ และซอฟต์แวร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานในทุกมุมมองมากที่สุด

5 กระบวนการคิดของ Design Thinking Process ที่องค์กรนำมาปรับใช้ได้

ก่อนจะนำแนวคิดไปปรับใช้ เรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า ทั้ง 5 กระบวนการของ Design Thinking Process คืออะไร ซึ่งทั้ง 5 ข้อนี้คือ Design Thinking Process ของ Hasso Plattner Institute of Design จาก Stanford University โดยมีเนื้อหาดังนี้

1. Empathize

เช่นเดียวกับการออกเรือในทะเล แน่นอนว่าต้องเริ่มจากการกำหนดทิศทาง ก่อนที่จะหักหางเสือ เช่นเดียวกับ Design Thinking ที่ผู้พัฒนาต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “เรากำลังพัฒนาไปเพื่ออะไร”

การกำหนดหางเสือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการวางแผนเพื่อพัฒนา ซึ่งผู้พัฒนาจึงจำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้งาน หรือพนักงานในองค์กรก่อนเป็นอันดับแรก 

โดยในขั้นตอนนี้ เริ่มได้ง่ายๆ จากการโฟกัสไปที่ปัญหา ความสนใจ พฤติกรรมของผู้ใช้งาน จากนั้นให้ตั้งคำถามว่า “ทำไม” ผู้ใช้งานถึงทำแบบนั้น คิดแบบนี้ รู้สึกแบบนี้ เลยตัดสินใจลงมือทำแบบนั้น ซึ่งการเก็บรวบรวมข้อมูลในส่วนนี้ สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นผ่านการประชุม ทำแบบสอบถามแบบไม่ระบุตัวตน ไปจนถึงการพูดคุยแบบ Casual Catch-up

2. Define

เมื่อได้ข้อมูลจากผู้ใช้งานมาแล้ว ขั้นตอนต่อไป คือ การระบุปัญหา หรือ Define the Problem จากข้อมูลที่ได้รับมา ซึ่งในขั้นตอนนี้จะเป็นการวิเคราะห์ให้เห็นถึงปัญหาที่แท้จริง

เช่น หากทีมมี Performance ที่ต่ำลง และคนในทีมให้ความเห็นตรงกันว่า พวกเขารู้สึกถูกละเลย หรือไม่ได้รับการรับฟัง ปัญหาจริงๆ อาจจะมาจากการสื่อสารของหัวหน้า หรือการบริหารจัดการที่ไม่เหมาะสม ซึ่งต้องอาศัยการสอบถามหรือเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ จนเพียงพอต่อการระบุต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง

3. Ideate

เมื่อสามารถระบุปัญหาที่แท้จริงได้แล้ว และ มั่นใจแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่ทำให้พนักงานเดือดร้อนอยู่ในใจจริงๆ ในขั้นตอนต่อมา คือ การสร้างสรรค์วิธีแก้ปัญหาออกมา หรือ Ideate นั่นเอง

สำหรับในแง่มุมการพัฒนาองค์กร ฝ่ายบุคคล หรือ ผู้บริหารสามารถจับกลุ่มกันเพื่อทำการระดมสมอง หรือ Brainstorm ผ่านการใช้ปากกา โพสต์อิท พร้อมเขียนไอเดียที่มีทั้งหมด จากนั้นจึงค่อยๆ จัดกลุ่มไอเดีย หรือ Grouping เพื่อดูว่า วิธีไหนน่าจะตอบโจทย์กับปัญหาที่เกิดขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาได้จริง

สมมติจากตัวอย่างเดิม หากพนักงานรู้สึกว่าไม่มีคนรับฟัง และ พบว่าปัญหาหลักๆ น่าจะมาจากหัวหน้าทีมที่ให้อำนาจคนในทีมไม่เท่ากัน จนทำให้พนักงานแต่ละคนรู้สึกถึงแรงกดดันและสภาพแวดล้อมการทำงานที่น่าอึดอัด เช่นนี้ ฝ่ายบุคคล หรือ ผู้บริหารสามารถจับกลุ่มกันเพื่อหาไอเดียที่นำมาแก้ไขปัญหา ณ จุดนี้  

4. Prototype

เมื่อได้ไอเดียที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้แล้ว ทีนี้ก็ถึงเวลาสร้างต้นแบบ หรือ Prototype ที่จะนำมาทดลองแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกัน ซึ่งสำหรับสายเทคก็อาจจะเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ไปจนถึงการร่าง Wifeframe เพื่อนำไปทดสอบและปรับแก้ไขให้เหมาะกับผู้ใช้งานจริง

สำหรับแง่มุมการพัฒนาองค์กร ฝ่ายบุคคล หรือ ผู้บริหารสามารถนำไอเดียที่ผ่านในรอบ Ideate ออกมาร่างแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นจึงลองนำไปถามกับผู้ใช้งานคนอื่น หรือ ถามด้วยกันเองว่า หากมีเรื่องนี้เกิดขึ้น แล้วเราแก้ไขแบบนี้ คิดว่าองค์กรทำถูกไหม ในฐานะพนักงานรู้สึกอย่างไรบ้าง

5. Test

เมื่อวัดผลลัพธ์จาก Prototype ในฐานะผู้ออกแบบด้วยกันแล้ว อย่าลืมนำแนวทางการแก้ปัญหาที่ได้ไปให้ผู้ใช้งานจริงทดสอบ จากนั้นจึงเก็บ Feedback และนำมาพัฒนาให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานจริงต่อไป

สำหรับองค์กรแล้ว นี่คือขั้นตอนที่ผู้พัฒนาแนวทางแก้ปัญหาในองค์กรจะนำวิธีการต่างๆ มาปรับใช้กับพนักงานจริง แน่นอนว่าอาจมีพนักงานบางคนชอบ บางคนไม่ชอบ หรือ บางคนไม่รู้สึกอะไรเลย แต่ไม่ว่าจะได้รับ Feedback แบบไหน ก็ขอให้มองทุกอย่างให้เป็นกลางและเป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรให้ตอบโจทย์ความต้องการต่อไป ไม่ช้าไม่นานก็จะได้แนวทางที่สามารถแก้ปัญหา และ เหมาะสำหรับทุกคนในองค์กรอย่างแน่นอน

BASE Playhouse หวังว่า บทความนี้จะช่วยให้คุณเห็นภาพและมีความเข้าใจมากขึ้นว่า Design Thinking คืออะไร และสามารถนำมาปรับใช้กับองค์กรได้ในแง่มุมไหนบ้าง ซึ่งทางเราก็มาพร้อมกับหลักสูตร "Basic Design Thinking" ที่ออกแบบมาเพื่อยกระดับความคิดสร้างสรรค์ของคนในองค์กร ผ่านกระบวนการฝึกจริงจากกิจกรรมและเกม พร้อมบริการ Customized Learning Outcome ที่ผู้เชี่ยวชาญด้าน Learning Design ของเราจะมาปรับแต่งหลักสูตรให้ตอบโจทย์องค์กรของคุณ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ต้องการได้อย่างตรงจุด

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.baseplayhouse.co/course/basic-design-thinking 

อ้างอิงข้อมูล